ปักธงปีนี้ "คมนาคม" ลุยเคาะ "แผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย" 1 แสนล้าน

16 พ.ค. 2567 | 09:12 น.
อัพเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2567 | 09:17 น.

"คมนาคม" เดินหน้าตั้งคณะกรรมการฯ ดัน "แผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย" 1 แสนล้านบาท ภายในเดือนนี้ คาดใช้เวลาศึกษา 6 เดือน มั่นใจได้ข้อสรุปปีนี้ เร่งสางปัญหาพื้นที่ชุมชน อุ้ม 1.3 หมื่นครัวเรือน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกทท. ,กรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือคลองเตย ออกจากพื้นที่กทม.ให้แล้วเสร็จโดยเร็วนั้น ปัจจุบันกระทรวงได้รับหนังสือจากนายกฯแล้ว เบื้องต้นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการตั้งคณะกรรมการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) คาดว่าจะมีการประชุมภายในเดือนนี้

 

สำหรับการตั้งคณะกรรมการฯชุดนี้ เพื่อศึกษาแผนพัฒนาฯและการย้ายท่าเรือคลองเตย ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เช่น ผู้แทนกระทรวงการคลัง,ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย,สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา,สำนักงานอัยการสูงสุด,กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ,การเคหะแห่งชาติ ฯลฯ

 

"หากมีการประชุมฯแล้วเสร็จ เบื้องต้นจะนำแผนศึกษาพัฒนาท่าเรือคลองเตยของปี 62 มาทบทวนใหม่อีกครั้ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน ยืนยันว่าปีนี้จะได้ข้อสรุปแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตยแน่นอน"

 

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ตามมติหนังสือของนายกฯมอบหมายกทท.ศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายท่าเรือคลองเตย 2,353 ไร่ ซึ่งจะต้องนำแผนพัฒนาฯทั้งหมดในปี 62 มาพิจารณาการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยเฉพาะพื้นที่ท่าเรือที่ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น

ทั้งนี้ในระยะแรกคาดว่าจะเริ่มดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในเขตรั้วศุลกากรกว่า 900 ไร่ ก่อน ส่วนนอกเขตรั้วศุลกากรกว่า 1,400 ไร่ จะต้องทบทวนผังเมืองให้สอดคล้องในการใช้ประโยชน์ เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์,การพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า,การพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยว (Cruise Terminal) ,การพัฒนาชุมชนคลองเตย

 

"ปัจจุบันพบว่ามีประชาชนที่ในพื้นที่ชุมชนคลองเตยและพื้นที่บริเวณใต้ทางด่วน ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 13,000 ครัวเรือน ทั้งนี้โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) เราจะต้องช่วยเหลือคนในชุมชนให้มีรายได้และอาชีพด้วย"

 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันการประชุมของคณะกรรมการในครั้งนี้ นอกจากนำแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตยปี 62 เสนอต่อที่ประชุมแล้ว เบื้องต้นกทท.จะมีการนำประเด็นอื่นๆเสนอต่อที่ประชุมด้วย เช่น การพัฒนาท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ (Automation port) ,ศูนย์กระจายสินค้า แบบ one stop service ,โครงการทางพิเศษ(ทางด่วน) สายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ,โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community)

 

ส่วนการย้ายท่าเรือคลองเตยนั้น ต้องพิจารณาผลการศึกษาของแผนพัฒนาท่าเรือฯ ก่อน ตามแผนเดิมกทท.จะปรับขนาดพื้นที่ท่าเรือลดลง เพื่อพัฒนาเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ (Automation port) โดยเป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้และการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าภายในเขตท่าเรือฯ ซึ่งจะช่วยลดการเข้า-ออกของรถบรรทุกบนทางด่วน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์และช่วยลดมลภาวะทางอากาศด้วย

สำหรับผังโครงการแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตยของ กทท. ที่เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ จะพัฒนาบนที่ดินรวม 2,353 ไร่ มูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท ถูกจัดสรรออกเป็น 5 กลุ่มพัฒนา ประกอบด้วย

 

1.กลุ่มพัฒนาพื้นที่ A ประกอบด้วย อาคารสำนักงานท่าเรือใหม่และอาคารสำนักงานเช่าเอกชน,โครงการที่พักอาศัย,โครงการพัฒนา Medical Hub,อาคารสำนักงาน,Smart Community ,อาคารอยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการพนักงานการท่าเรือ, อาคารอยู่อาศัยประเภทเช่า,Retail Mixed use

 

2.กลุ่มพัฒนาพื้นที่ B ประกอบด้วย Smart Port (กึ่งอัตโนมัติ) ,ท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออก,ท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่ง

 

3. กลุ่มพัฒนาพื้นที่ C ประกอบด้วย พื้นที่ Cruise Terminal Retail Mixed use,อาคารสำนักงาน,พื้นที่พาณิชย์ Duty Free,โรงแรม,พื้นที่พาณิชยกรรม,อาคารจอดรถ ,ศูนย์ฝึกอบรม,พื้นที่ศูนย์อาคารแสดงสินค้า,อาคารสาธารณูปโภค

 

4. กลุ่มพัฒนาพื้นที่ G ประกอบด้วย Sport Complex ,สวนสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่รองรับในการพัฒนาอนาคต ประกอบด้วย พื้นที่คลังเก็บสินค้า,สำนักงาน E- Commerce,พื้นที่จอดรถบรรทุก,พื้นที่ ปตท.เช่าใช้