เปิดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 ฉบับพรรคเพื่อไทย ห้ามแตะหมวดพระมหากษัตริย์

08 ม.ค. 2568 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2568 | 10:06 น.

เปิดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 ฉบับพรรคเพื่อไทย ให้มี สสร. 200 คนจากการเลือกตั้ง ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จภายใน 180 วัน ตีกรอบห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

วันนี้( 8 ม.ค. 68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย(พท.) นำโดย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานสส.พรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) ซึ่งแก้ไข มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ  เพื่อให้พิจารณาบรรจุไว้ในวาระการประชุมร่วมรัฐสภา

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ในเหตุผลตอนหนึ่งว่า เป็นการแก้ไขในบางหมวดบางเรื่องตามที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งทำให้ไม่อาจแก้ไขได้ ซึ่งขัดต่อหลักการทั่วไปของรัฐธรรมนูญที่ดีที่ ต้องให้รัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นพลวัตรไม่ใช่การหยุดนิ่ง เพราะต้องการให้แก้ไขได้เมื่อยามประเทศต้องการให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงภายในประเทศหรือสถานการณ์โลก 

อีกทั้งรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้นภายใต้สถานการณ์พิเศษ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จรริง และมีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย

สำหรับรายละเอียดของการแก้ไขมาตรา 256 นั้น มีสาระสำคัญ คือ การตัดหลักเกณฑ์ที่ต้องใช้เสียง สว. จำนวนไม่น้อย 1 ใน 3 และเสียงของสส.ฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20% ออกจากกระบวนการเห็นพ้องชั้นการลงมติวาระแรกและวาระสาม จากเดิมที่กำหนดไว้ 

นอกจากนั้น ได้ตัดเงื่อนไขของการนำไปออกเสียงประชามติก่อนการทูลเกล้าฯ ถวาย ในมาตรา 256 (8) ในกรณี เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่ หรือ อำนาจศาล หรือ องค์กรอิสระ เรื่องที่ที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ แต่ยังคงการให้ทำประชามติ ใน 3 กรณี คือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 

ขณะที่หมวดใหม่ที่เพิ่มขึ้น ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน พร้อมกำหนดข้อห้ามของบุคคลที่จะสมัครเป็น สสร. ไว้ คือ เป็นข้าราชการการเมือง เป็น สส. สว. รัฐมนตรี และมีลักษณะต้องห้ามตามลักษณะต้องห้ามเดียวกันกับการสมัครเป็น สส.
ส่วนระเวลาการเลือกตั้ง สสร.นั้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเลือกตั้งภายใน 60 วัน เมื่อเลือกตั้งเสร็จให้ กกต.รับรองภายใน 15 วัน

ส่วนการจัดทำรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ สสร. ตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 47 คน มาจากการแต่งตั้งจาก สสร. 24 คน โดยกำหนดคุณสมบัติ คือ ต้องเชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน  

และ การร่างรัฐธรรมนูญ อีกจำนวน 23 คนนั้น ให้สสร. แต่งตั้งจากการเสนอชื่อโดยสภาฯ 12 คน สว. 5 คน และ คณะรัฐมนตรี 6 คน พร้อมกับกำหนดระยะเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จภายใน 180 วัน จากนั้นต้องส่งให้รัฐสภาเห็นชอบภายใน 30 วัน เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้วให้นำไปจัดการออกเสียงประชามติ

นอกจากนั้นแล้ว ยังให้สิทธิรัฐสภามีอำนาจเสนอความเห็นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ สสร. ดำเนินการได้ด้วย ซึ่งกำหนดเป็นบทบังคับ ให้ สสร.แก้ไขภายใน 30 วัน พร้อมกับให้ลงมติยืนยันด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ สรร.ที่มี 

จากนั้นจึงส่งให้ กกต.ทำประชามติ แต่หาก สสร. ลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป และให้อำนาจ สสร. ชุดเดิมยกร่างใหม่ภายใน 90 วัน

ทั้งนี้ ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย กำหนดเป็นข้อห้ามที่ชัดเจนว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และ หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้” พร้อมให้อำนาจรัฐสภาวินิจฉัยว่า หากมีการจัดทำเนื้อหาที่เป็นข้อห้ามดังกล่าว ให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้ สสร. ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการกำหนดให้ สสร. สิ้นสภาพไปนั้น ให้ สส. และ สว. เสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีก และกำหนดข้อห้าม สสร. ชุดเดิมกลับมาเป็น สสร.อีก