วันนี้ (16 พฤษภาคม 2567) เวลา 10.50 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ ศูนย์ประชุม L'Apostrophe กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวปาฐกถาในงาน Thailand - France Business Forum โดยภายหลังเสร็จสิ้น นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของปาฐกถา ดังนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณการต้อนรับอย่างอบอุ่น ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคยุโรปที่นายกรัฐมนตรีเยือนอย่างเป็นทางการ และในครั้งนี้ถือเป็นการเยือนครั้งที่ 2 ในช่วงเวลา 3 เดือน สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกัน
ทั้งนี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้บริหารองค์กร Comité Colbert เยือนไทยเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมและงานฝีมือของไทย ซึ่งไทยต้องการเรียนรู้ความเชี่ยวชาญและร่วมมือกับฝรั่งเศสในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย
วันนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำคณะนักธุรกิจชั้นนำของไทยร่วมการเยือนในครั้งนี้ด้วย ถือเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีมาครง เพื่อต้องการสร้างเวทีให้ภาคเอกชนชั้นนำได้พบปะ เชื่อมโยง และร่วมงานกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่า งาน Thailand - France Business Forum จะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ทั้งนี้ ไทยถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 3 ของฝรั่งเศสในอาเซียน ซึ่งเชื่อมั่นว่าในการนำของรัฐบาลไทยจะเป็นพันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในภูมิภาคได้ ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศมีความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ความร่วมมือระดับประชาชน มีคนไทยประมาณ 3 หมื่นคน อาศัยอยู่ที่ฝรั่งเศส และมีชาวฝรั่งเศสประมาณ 4 หมื่นคน อาศัยในประเทศไทย ส่วนของการท่องเที่ยว ปี 2566 ชาวฝรั่งเศสเดินทางไปไทย 2.7 หมื่นคน และมีนักท่องเที่ยวไทยไปฝรั่งเศสเกือบ 2 แสนคน
นายกฯ ระบุว่า รัฐบาลไทยเพิ่งเปิดตัววิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” เพื่อยกระดับไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลกใน 8 ภาคส่วน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ อาหารและเกษตรกรรม การบิน การขนส่ง การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน ซึ่งวิสัยทัศน์นี้นำเสนอศักยภาพมากมายสำหรับภาคเอกชนฝรั่งเศสที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย
นายกฯ ยังได้หารือแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ด้านการขนส่ง (Logistics) รัฐบาลมีเป้าหมายผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับภูมิภาคอื่น ๆ โดยมี Mega Project อย่างโครงการ Landbridge เชื่อมโยงเส้นทางการค้าและการขนส่งจากมหาสมุทรแปซิฟิก เข้ากับมหาสมุทรอินเดีย และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเพิ่มความเชื่อมโยงด้านคมนาคมทั้งทางบกและทะเลกับภูมิภาคอื่น ๆ มากขึ้น
2. ด้านการบิน (Aviation) รัฐบาลต้องการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน ทั้งผู้โดยสารและสินค้า ผ่านการเร่งดำเนินแผนการสร้างสนามบินใหม่และปรับปรุงสนามบินเดิม พร้อมวางแผนพัฒนาการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Aviation Maintenance, Repair and Overhaul: MRO) ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินอย่างเต็มรูปแบบ โดยนายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้
3. ด้านดิจิทัล ไทยมีอินเทอร์เน็ต 5G ที่ครอบคลุม และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ประกอบกับชาวไทยมีการใช้งานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลจำนวนมาก รวมถึงการชำระเงินทางโทรศัพท์กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ซึ่งเหล่านี้เป็นรากบานที่แข็งแกร่งที่จะผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค ความสำเร็จของโครงการเหล่านี้สามารถทำให้ไทยกลายเป็นประตูสู่ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิกของฝรั่งเศส
ขณะเดียวกัน นายกฯ หวังว่าฝรั่งเศสจะสนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย - สหภาพยุโรป ซึ่งเมื่อลงนามแล้วเสร็จ คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการส่งออกจากสหภาพยุโรปมายังไทยกว่า 40% และเพิ่มปริมาณการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปมากกว่า 25% โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุการเจรจา FTA ดังกล่าว
นายกฯ ยังเน้นย้ำเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นความท้าทายระดับโลก และเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล โดยรัฐบาลมีเป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) ผ่านการมี Roadmap ที่สมบูรณ์เพื่อบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทน 50% ของการผลิต ภายในปี ค.ศ. 2040 และในวันนี้ ภาคเอกชนด้านเกษตรและอาหารของไทยจะลงนาม MoU ด้าน sustainable mobility ร่วมกับฝ่ายฝรั่งเศส
โดยไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ไทยยังพิจารณาใช้ Green Hydrogen และ Small Module Reactor (SMR) เป็นเครื่องมือทำให้การผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับหน่วยงานด้านพลังงานสะอาดของฝรั่งเศส Electricite de France (EDF) เมื่อการเยือนอย่างเป็นทางการด้วย
รองโฆษกรัฐบาล ระบุว่า นายกฯ ยังได้เน้นย้ำ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. เชื่อมั่นว่าการติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จะทำให้เกิดความเข้าใจ วางใจ และมั่นใจต่อกันมากขึ้น จึงเชิญชวนให้ฝ่ายฝรั่งเศสเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น โดยรัฐบาลได้อำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า และหวังอย่างยิ่งว่า ไทยจะได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสในการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย
2. ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลมีทิศทางนโยบายที่ชัดเจน มีแรงจูงใจที่ดี และมีความมุ่งมั่น เพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศสให้เจริญรุ่งเรือง และหวังว่างานนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมทุกคน
ด้านนายฟรองซัวส์ กอร์แบง (François Corbin) ประธานสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย และรองประธานสภานายจ้างฝรั่งเศสในต่างประเทศ MEDEF International (MEDEFi) ซึ่งได้กล่าวว่าเชื่อมั่นว่าในงานนี้จะเพิ่มตัวเลขทางการค้าและเพิ่มความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจระหว่างระหว่างไทยกับฝรั่งเศสมากขึ้น
ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้านการค้าต่างประเทศ ความน่าสนใจ ทางเศรษฐกิจ และคนชาติในต่างประเทศ กล่าวว่าไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันหลายครั้งซึ่งเชื่อว่า ความร่วมมือ FTA ไทย - สหภาพยุโรป จะช่วยด้านการค้าการลงทุนมากขึ้น และความร่วมมือในด้านต่างๆ เหล่านี้จะปูทางไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป