นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือกับบนายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ดังนี้
นายกรัฐมนตรี ขอให้ประธานาธิบดีพิจารณาผลักดัน เรื่องการขอยกเว้นการตรวจลงตราเชงเกนให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยเพื่อเพิ่มการติดต่อระหว่างบุคคลและผู้ประกอบการไทยและฝรั่งเศส เนื่องจากปีหน้า 2568 จะเป็นปีสำคัญที่รัฐบาลเปิดศักราชการท่องเที่ยว
โดยรัฐบาลได้เตรียมการไว้หลายหลายด้านเพื่อรองรับกิจกรรมนี้เช่นการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง ทางด้านท่าเรือ และโครงการใหญ่ของรัฐบาลโครงการ Landbridge ซึ่งจะส่งเสริมการเชื่อมต่อเดินทางสะดวกมากขึ้นด้วย
นายกฯ เชื่อมั่นว่าการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้เอกชนฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็นด้านแฟชั่นซึ่งรัฐบาลได้พูดคุยกับภาคเอกชนให้แลกเปลี่ยนการจัดกิจกรรม Pop up Store ส่งเสริมการขาย กิจกรรมที่เกี่ยวกับอาหาร ซึ่งได้พูดคุยกับบริษัทมิชลิน และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดนิทรรศการระดับโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับ Formula และ Art Basel
นายกฯ กล่าวว่า ประเทศฝรั่งเศสเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการประเทศแรกในยุโรป พร้อมขอให้ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 หวังว่าฝรั่งเศสจะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งสถานที่ฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬาไทย รวมถึง Thai House ที่ไทยวางแผนจะจัดแสดงมวยไทย แฟชั่น และอาหารไทย
ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้กล่าวเชิญ ปธน. ฝรั่งเศส เยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 340 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างกัน และครบรอบ 170 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2569
นายกฯ ได้ทราบถึงแผนฟื้นฟู France Relance ของฝรั่งเศสที่ต้องการเป็นประเทศแรกในยุโรปที่บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ซึ่งไทยเองก็มีแผนองค์รวมที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2568 เช่นกัน
พร้อมขอให้ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปพิจารณาจัด "ช่องทางสีเขียว green lane" สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นมาตรการเตรียมพร้อมในขณะที่การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปยังดำเนินอยู่ โดย นายกฯ ยังได้กล่าวเชิญชวนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ฝรั่งเศส โดยเฉพาะ EV และแบตเตอรี่ รวมถึงภาคเอกชนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสีเขียวของไทย
ด้านการค้าการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่บริษัทไทยขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในฝรั่งเศสจำนวนมาก นายกฯ หวังว่าฝรั่งเศสจะอำนวยความสะดวกต่อการลงทุนของไทยในอนาคต รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าแก่นักธุรกิจไทย และพร้อมเชิญชวนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค โครงการ Landbridge
รวมทั้งตาม วิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ที่นายกฯ ได้ประกาศเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก ใน 8 ภาคส่วน ได้แก่ การท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ เกษตรกรรมและอาหาร การบิน โลจิสติกส์ การผลิตยานยนต์ในอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน โดยนายกฯ ได้พบและเชิญชวนบริษัทเอกชนชั้นนำของฝรั่งเศสหลายภาคส่วน จึงหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากปธน. ฝรั่งเศสด้วย
ทั้งนี้ ไทยเชื่อมั่นในเทคโนโลยีการป้องกันประเทศของฝรั่งเศส จากการเป็นพันธมิตรมาอย่างยาวนาน ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินของไทยได้จัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์สำหรับเฮลิคอปเตอร์แอร์บัสในจังหวัดลพบุรี ไทยหวังที่จะเดินหน้าความร่วมมือนี้ โดยขอเชิญชวนให้ฝรั่งเศสมาร่วมลงทุนเพื่อเป็นฐานการผลิตระดับภูมิภาค หรือศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาขั้นสูงสำหรับบริษัทป้องกันประเทศชั้นนำของโลก
ด้าน soft power และแฟชั่น ไทยหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะต่อยอดความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาไทยและ the Duperré School of Applied Arts ในการแลกเปลี่ยนครูและนักเรียนระหว่างกันเพื่อพัฒนาโครงการด้านการออกแบบแฟชั่นและผ้าไหมไทย โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี พร้อมเชิญชวนร้านแฟชั่นและอัญมณีฝรั่งเศสเข้ามาจัดหาวัตถุดิบคุณภาพสูงจากในท้องถิ่นของไทย หวังว่าจะได้เห็นผลงานนักออกแบบชาวไทยที่งาน เช่น Paris Fashion Week
ด้านความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ไทยสนับสนุนความพยายามของฝรั่งเศสในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และยินดีที่ไทยและฝรั่งเศสจะจัดการเจรจาทวิภาคีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และการคุ้มครองพันธุ์พืชด้วย