“พิชัย” เล็งคลอดแพ็คเกจกระตุ้นศก. ปั๊ม GDP โตเกิน 2.5%

21 พ.ค. 2567 | 06:40 น.

“พิชัย ชุณหวชิร” ประกาศกลางวง ครม. ไม่พอใจเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวแค่ 2.5% เล็งคลอดแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังขยายตัวพอ ๆ กับ ประเทศเพื่อนบ้าน

วันนี้ (21 พฤษภาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมครม. ว่ารัฐบาลอยากเห็นเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ขยายตัวได้เกินกว่า 2.5% โดยควรหามาตรการต่าง ๆ มาประตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวให้มากกว่านี้

"รองนายกฯ คอมเมนต์ว่า ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปีนี้ที่ 2.5% เมื่อเทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เติบโตมากกว่าไทย โดยหลายประเทศเติบโตมากกว่า 5% ดังนั้นถ้าเราเติบโตแค่ 2.5% แม้จะเป็นตัวเลขที่ดีกว่าปีที่แล้ว แต่เราไม่ควรจะพึงพอใจแค่นี้ โดยควรหามาตรการกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยโตได้ตามศักยภาพ หรือโตให้มากกว่า 2.5%" นายชัย ระบุ

สำหรับการแสดงความเห็นดังกล่าวเป็นผลมากจากการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งได้มีการแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.5%  ส่วนแนวโน้มทั้งปี 2567 เดิมคาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ 2-3% โดยมีค่ากลางการประมาณการ 2.5%

ส่วนแนวโน้มทั้งปี 2567 สศช. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมคาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.2-3.2% ลดลงเหลือ 2-3% (ค่ากลางการประมาณการ 2.5%) เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัว 1.9% ในปี 2566 คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5% และ 3.2% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.1 - 1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของ GDP

อย่างไรก็ตาม สศช. ยังได้เสนอแนวทางในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 จะขยายตัวได้ 2-3% หรือเฉลี่ย 2.5% ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ อย่างน้อย 5 เรื่อง ดังนี้

  1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว 
  2. การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหา 
  3. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร 
  4. การขับเคลื่อนการส่งออก ควบคู่ไปกับการเร่งรัดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ
  5. การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป