ปักหมุดปี 68 “กทท.” ประมูล 2 “ท่าเรือบก” 1.4 หมื่นล้าน

24 พ.ค. 2567 | 07:57 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2567 | 05:11 น.

“กทท.” เร่งศึกษาท่าเรือบก จ.ขอนแก่น คาดได้ข้อสรุปเดือนนี้ จ่อชงบอร์ดไฟเขียว มิ.ย.67 เตรียมเปิดประมูลปี 68 ฟากท่าเรือบก จ.นครราชสีมา รอผลศึกษาเดินหน้าพร้อมกัน หวังลดต้นทุนโลจิสติกส์ เชื่อมการขนส่งสินค้าในอนาคต

KEY

POINTS

  • “กทท.” เร่งศึกษาท่าเรือบก จ.ขอนแก่น คาดได้ข้อสรุปเดือนนี้
  • จ่อชงบอร์ดไฟเขียว มิ.ย.67 เตรียมเปิดประมูลปี 68
  • ฟากท่าเรือบก จ.นครราชสีมา รอผลศึกษาเดินหน้าพร้อมกัน หวังลดต้นทุนโลจิสติกส์ เชื่อมการขนส่งสินค้าในอนาคต

ปัจจุบันกทท.มีแผนเร่งพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ซึ่งจะเป็นจุดศูนย์กลางในการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากระบบถนนและระบบรางสู่รูปแบบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

 

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาโครงการท่าเรือบก จังหวัดขอนแก่นฯ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ ซึ่งการพัฒนาในเรื่องนี้ต้องมีหน่วยงานอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะการประสานงานร่วมกับการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งทางรถไฟไปสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ตามแผนหากศึกษาโครงการฯแล้วเสร็จจะเสนอต่อคณะกรรมการกทท.พิจารณาภายในเดือนมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นคาดว่าจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี ก่อนเปิดให้บริการต่อไป 

 

ส่วนการประมูลโครงการฯมีหลายรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้ เช่น รูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP),การจัดตั้งบริษัทในเครือ ซึ่งรูปแบบนี้จะเพิ่มความน่าสนใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โดยจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด ขณะที่ กทท. จะเป็นแกนกลางดำเนินงาน คล้ายการจัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งทำให้เกิดการดำเนินการเร็วที่สุด 
 

“โครงการพัฒนาท่าเรือบกเป็นนโยบายที่กระทรวงคมนาคมเร่งรัดให้โครงการฯนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าจากทางจีนตอนใต้มาสู่ท่าเรือแหลมฉบังใกล้กว่าเส้นทางของท่าเรือในประเทศเขาที่ใช้เวลาเดินทางกว่า 2,000 กิโลเมตร (กม.)” 

 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า หากโครงการท่าเรือบก จังหวัดขอนแก่น เสร็จสมบูรณ์จะช่วยสร้างความเจริญในพื้นที่จังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งในปัจจุบันจุดสำคัญคือการขนส่งสินค้าทางรถไฟสามารถเชื่อมต่อเข้าท่าเรือได้โดยตรง ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ถูกลงและช่วยในการพัฒนาการกระจายสินค้า รวมทั้งการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังทางจีนตอนใต้และสปป.ลาว ได้สะดวกมากขึ้น  

 

สำหรับท่าเรือบก จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโนนพยอม ต.ม่วงหวาน อ.นํ้าพอง จ.ขอนแก่น ใช้พื้นที่ 1,500-2,000 ไร่ วงเงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งกทท.ได้เลือกพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่นมีซับพพลายและดีมานด์ที่มีสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก อีกทั้งเป็นจังหวัดที่เป็นจุดศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าในภูมิประเทศที่สามารถเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ขณะที่ความคืบหน้าโครงการท่าเรือบก จังหวัดนครราชสีมา ต้องรอให้ผลการศึกษาโครงการฯ จังหวัดขอนแก่นแล้วเสร็จก่อน ซึ่งจะเริ่มศึกษาจังหวัดนครราชสีมาภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกัน เชื่อว่าทั้ง 2 โครงการจะสามารถต่อยอดร่วมกันได้ คาดว่าจะสามารถผลักดันเปิดประมูลใกล้เคียงกับโครงการท่าเรือบก จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่คณะกรรมการกทท.พิจารณาเห็นชอบรูปแบบการลงทุนด้วย ตามแผนจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี ก่อนเปิดให้บริการต่อไป

ปักหมุดปี 68 “กทท.” ประมูล 2 “ท่าเรือบก” 1.4 หมื่นล้าน

รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ตามผลการศึกษาเดิมโครงการท่าเรือบก จังหวัดนครราชสีมา ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ที่ ต.กุดจิก อ. สูงเนิน จ.นครราชสีมา วงเงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงพิจารณาพื้นที่ใหม่ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพมากกว่าพื้นที่เดิม เพราะต้องพิจารณาพื้นที่โดยรอบให้ครอบคลุมกับการขนส่งทางถนนและทางราง  

 

ทั้งนี้โครงการท่าเรือบก จังหวัดนครราชสีมา มีการเสนอทำเลที่ตั้งใหม่ คือ บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ต.หนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งติดกับสถานีรถไฟและถนน รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมด้วย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะใช้พื้นที่เดิมหรือพื้นที่ใหม่ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสม เนื่องจาก จังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนล่าง มีการขนส่งสินค้าเกษตรจำนวนมาก

 

นอกจากนี้กทท.ยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในจังหวัดฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ราว 1,000 ไร่ ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ดังกล่าวยังติดข้อจำกัดเรื่องการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากจังหวัดฉะเชิงเทราอยู่ในเขตพื้นที่ของอีอีซี อีกทั้งในปัจจุบันมีการเปิดให้บริการบริเวณสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ย่านลาดกระบัง ซึ่งมีระยะทางไม่เกิน 100 กิโลเมตร (กม.) ทำให้กทท.ไม่อยากให้เกิดการแข่งขันระหว่างกัน โดยกทท.คาดว่าในพื้นที่เชิงเทราอาจจะต้องชะลอโครงการฯออกไปก่อน เพราะต้องดูความพร้อมของประชาชนในพื้นที่