ประกันสังคม แจงปมเรียกคืนเงินเยียวยาโควิด "เงินไม่พึงได้รับ" 5,000 คน 

27 พ.ค. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2567 | 07:24 น.

โฆษกสำนักงานประกันสังคม แจงผู้ประกันตน กรณีเรียกเงินเยียวยาโควิด 5,000 บาท คืน "เงินไม่พึงได้รับ" มีเพียง 5,000 คน ที่ได้รับหนังสือเท่านั้น แนะติดต่อ สปส.จังหวัดป้องกันกลุ่มมิจจาชีพแอบอ้าง 

27 พฤษภาคม  2567 นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ส่งหนังสือถึงผู้ประกันตนมาตรา 40 (ม.40) เพื่อเรียกคืนเงินเยียวยาโควิด 5,000 บาท หรือ เงินตามโครงการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ผู้ประกันตนม.40) ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ว่า ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ออกไปนั้น

ข้อเท็จจริงเรื่องจำนวนผู้ประกันตนที่มีการเรียกคืนเงินเยียวยาช่วงโควิด-19 มีจำนวนประมาณ 5,000 คน โดยส่วนมากจะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ส่วนมาตรา 33 และ 39 มีเพียงเล็กน้อยซึ่งแต่ละคนจะมีจำนวนเงินที่ต้องคืนต่างกันออกไป โดยทางสำนักงานประกันสังคมจังหวัดได้ส่งหนังสือไปถึงผู้ประกันตนทั้งหมดแล้ว ดังนั้น หากผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับหนังสือ หมายความว่า ไม่ต้องติดต่อเพื่อขอคืนเงินแต่อย่างใด

สิ่งที่กังวล คือ ในช่วงนี้ที่มีกระแสข่าวออกมาอาจมีมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสส่งหนังสือไปถึงผู้ประกันตนโดยอ้างว่า มาจากประกันสังคม ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันที่ได้รับหนังสือเรียกคืนเงินไปติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่สะดวกเพื่อตรวจสอบข้อมูล นางนิยดา โฆษก สปส. กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้ประกันตนต้องการจะผ่อนชำระจะมีเงื่อนไขอย่างไรบ้างและจะต้องคืนภายในกี่วันนั้น นางนิยดา โฆษก สปส. ให้ข้อมูลว่า การผ่อนชำระว่า จะต้องผ่อนเท่าไร หรือต้องผ่อนนานแค่ไหนนั้น ขอให้ผู้ประกันตนไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดโดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้รายละเอียดในเรื่องนี้อยู่ ขอเน้นย้ำว่า การคืนเงินนั้นจะต้องไม่กระทบต่อผู้ประกันตนมากนัก

เมื่อถามว่า หากผู้ประกันตนกว่า 5,000 คนไม่สามารถคืนเงินได้นั้นจะมีดอกเบี้ยปรับหรือไม่ นางนิยดา กล่าวว่า เงินในการเยียวยานั้นเป็นเงินที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมาเพื่อเยียวยาผู้ประกันตนซึ่งจะมีเงื่อนไขในการเยียวยาอยู่หลายข้อ ดังนั้น ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขก็จะต้องเงินคืนส่วนดังกล่าวมาเพราะถือว่า เงินส่วนนั้นเป็นเงิน "ไม่พึงได้รับ" ส่วนในเรื่องของดอกเบี้ยปรับหรือมาตรการทางกฎหมายขอไปหารือกับฝ่ายกฎหมายเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง 

อย่างไรก็ดี การที่ประกันสังคมโอนเงินให้ผู้ประกันตนแล้วแต่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นมาเนื่องจากระบบของทางประกันสังคม ดังนั้น ประกันสังคมจึงควรเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่ นางนิยดา กล่าวว่า สำหรับข้อมูลเบื้องต้น คือ ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เงินดังกล่าวถือว่า เป็นเงินไม่พึงได้รับ ซึ่งหมายถึงกรณีที่มีการจ่ายเงินไปแล้วได้รับเงินไปแล้ว แต่มีการตรวจสอบย้อนหลังว่า เป็นเงินไม่พึงได้รับก็จะต้องมีการคืนกลับมา ทั้งนี้ ตนขอนำประเด็นนี้เข้าไปหารือร่วมกับฝ่ายกฎหมายเพื่อความชัดเจนต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับโครงการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ (ม.40) เป็นหนึ่งมาตรการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการเพิ่มเติมในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด -19 ของรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบระยะสั้นกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 10 จังหวัด ทั้งในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคม ซึ่งในส่วนของผู้ประกันตน มาตรา 40 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการ/นายจ้างกรณีที่ไม่มีลูกจ้างซึ่งลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตามมาตรา 40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 5,000 บาท/คน และได้ขยายมาตรการช่วยเหลือจากเดิมที่ให้เฉพาะผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมได้รับความช่วยเหลือ 3,000 บาท กรอบวงเงินมาตรการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการดังกล่าวใช้วงเงินทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท