นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 2/2567 ว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการหารือประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบขนส่งทางรางที่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะการติดตามความคืบหน้ากรณีรางนำไฟฟ้า (Conductor Rail) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ร่วงหล่น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ตามข้อสั่งการของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มอบหมายให้กรมการขนส่งทางรางติดตามหาสาเหตุและหาแนวทางการป้องกัน โดยกรมการขนส่งทางรางได้ประชุมหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า สาเหตุเกิดจากนอตตัวผู้ (bolt) ที่ยึดแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) บริเวณรอยต่อที่ใช้สำหรับรองรับการขยายตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (expansion joint) ของคานทางวิ่ง (guideway beam) เกิดความเสียหายเนื่องจากการติดตั้งในระหว่างการก่อสร้างมีความบกพร่อง ส่งผลให้แผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เกิดการเคลื่อนตัวและขบวนรถไฟฟ้าไปกระแทก จึงทำให้แผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) หล่นมากระแทกรางนำไฟฟ้า (conductor rail) ทำให้รางนำไฟฟ้าหลุดร่วงระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) ถึงสถานีสวนหลวง ร.9 (YL15) ระยะทางประมาณ 6.40 กิโลเมตร และทำให้ finger plate และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้า (insulator) บางส่วนร่วงหล่นลงมายังพื้นด้านล่าง
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้ส่งชิ้นส่วนนอตตัวผู้ (bolt) ที่เสียหายดังกล่าวไปตรวจสอบที่ประเทศสิงคโปร์ และหน่วยงานทดสอบวัสดุในประเทศไทย เพื่อหาสาเหตุเชิงลึก รวมทั้งผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
ส่วนสายสีชมพูได้ดำเนินการตรวจสอบนอตตัวผู้ (bolt) ยึดแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) แล้วทุกจุดตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งตัวใดที่มีปัญหาได้ดำเนินการเปลี่ยนและติดตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบการคลายตัวของนอตยึด finger type expansion joint จากทุก 6 เดือนเป็นทุก 2 เดือนและเพิ่มความถี่การตรวจสอบแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) ด้านบนเป็นทุก 7-10 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยต่อการเดินรถ
ขณะเดียวกันในปัจจุบันผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลืองดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าและรางนำไฟฟ้าระหว่างสถานีสวนหลวง ร.9 (YL15) กับสถานีศรีอุดม (YL16) เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างติดตั้งอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าและรางนำไฟฟ้าระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) กับสถานีสวนหลวงร.9 (YL15) ซึ่งไม่สามารถเปิดให้บริการทันในวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ได้ เนื่องจากยังคงรอชิ้นส่วนล๊อตสุดท้ายจากต่างประเทศ คาดว่าจะมาถึงไทยในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2567
หลังจากนั้นจะดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายน 2567 ก่อนที่กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, วิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (ICE) และผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะร่วมกันตรวจสอบความปลอดภัยและทดสอบการเดินรถร่วมกันอีกครั้งให้มีความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจ ก่อนที่จะเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงแนวทางและมาตรการป้องกันเหตุขัดข้องรถไฟฟ้าฯ กรณีเหตุขบวนรถไฟฟ้าสาย สีน้ำเงิน เกิดเหตุน้ำรั่วไหลใส่ผู้โดยสารภายในขบวนรถ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เวลา 18.29 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง ได้ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล
สาเหตุดังกล่าวเกิดจากการอุดตันของท่อระบายน้ำของระบบปรับอากาศ (Drain Hole) โดยกรมการขนส่งทางรางได้กำชับ ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าปฏิบัติตามแนวทางป้องกันเหตุ โดยตรวจสอบวิธีการทำความสะอาดท่อระบายน้ำให้เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนด พร้อมทั้งเพิ่มความถี่และความรัดกุมในการตรวจสภาพและทำความสะอาดระบบปรับอากาศ จากเดิมทุก 3 เดือน เป็นทุกเดือน และพิจารณาปรับปรุงระบบให้สามารถเข้าถึงการซ่อมบำรุงระบบปรับอากาศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การซ่อมบำรุงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันการอุดตันของท่อระบายน้ำ
“กรมการขนส่งทางรางได้เน้นย้ำผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า ตระหนักถึงความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า และดำเนินการซ่อมบำรุงรักษารถขนส่งทางรางพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามวาระการซ่อมบำรุงที่ผู้ออกแบบและผู้ผลิตแนะนำ รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ เพื่อป้องกันและลดจำนวนเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง”