ส่งออก “ถุงมือยาง” ใช้สิทธิ์ GSP ไปสหรัฐ 2 เดือนแรกปี 67 โต 30%

29 พ.ค. 2567 | 05:50 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2567 | 05:58 น.

กรมการค้าต่างประเทศ เผย ตัวเลขการสิทธิประโยชน์ GSP ช่วง 2 เดือน (มกราคม - กุมภาพันธ์) ปี 67 มีมูลค่า 480.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการใช้สิทธิฯ ส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงที่สุด รวม 444.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าถุงมือยาง ใช้สิทธิ์ในการส่งออกสูงที่สุด ตลาดขยายโตต่อเนื่อง 30%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย สถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ปี 2567 ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 480.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 56.92 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ ประเทศปลายทางที่ไทยมีการส่งออกไปโดยใช้สิทธิ GSP มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ สหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 444.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 62.17 % ของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ

 โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ภายใต้สิทธิ GSP 5 อันดับแรก คือ

  • ถุงมือยาง
  • อาหารปรุงแต่ง
  • พลาสติกปูพื้นทำด้วยโพลิเมอร์ของไวนิลคลอไรด์
  • หีบเดินทางขนาดใหญ่หรือกระเป๋าใส่เสื้อผ้า
  • กรดมะนาวหรือกรดซิทริก

สำหรับสินค้าถุงมือยางเป็นสินค้าที่ไทยใช้สิทธิ GSP เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในอันดับต้น ๆ มาโดยตลอด และจากการติดตามสถิติพบว่า มูลค่าการส่งออกที่ใช้สิทธิฯ เดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 สินค้าถุงมือยาง ได้ขยับขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง ภายใต้ GSP โดยมีมูลค่าการส่งออกที่ใช้สิทธิ GSP  22.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 30%

 ซึ่งไทยถือเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าถุงมือยางที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยในปี 2566 สหรัฐฯ นำเข้าถุงมือยางจากทั่วโลกมูลค่าประมาณ 590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ถุงมือยางของไทยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่อันดับที่สองที่ 32.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยได้รับสิทธิ GSP จาก 4 ประเทศ กลุ่มประเทศ นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิ GSP เพื่อส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ซึ่งประกอบด้วย ยูเครน อาเซอร์ไบจาน ทาจิกิสถาน มอลโดวา อุซเบกิสถาน จอร์เจีย และเติร์กเมนิสถาน อีกด้วย

สำหรับโครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2567 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เป็นอันดับสอง อยู่ที่  32.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับสาม โครงการ GSP ของนอร์เวย์ มูลค่า 2.28  ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และอันดับสุดท้ายเป็นโครงการ GSP ของกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) มูลค่า 0.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ เพชรพลอยรูปพรรณ (สวิตเซอร์แลนด์) สูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะ (นอร์เวย์) และสับปะรดกระป๋อง (CIS) เป็นต้น

ทางกรมฯ ก็พยายามเชิญชวนให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิพิเศษ GSP เพราะจะทำให้มีแต้มต่อทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ GSP ของสหรัฐฯ ที่หากใช้สิทธิ GSP สินค้าจะได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่น ๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ ไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA (ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ที่จะมาทดแทนโครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ ซึ่งจะถือเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของไทยที่จะได้รับสิทธิในการลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าได้อย่างถาวร แตกต่างจากโครงการสิทธิพิเศษ GSP ที่เป็นการให้สิทธิพิเศษฝ่ายเดียว ประเทศผู้ให้สิทธิฯ จึงสามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้สิทธิฯ ได้ตามนโยบายของแต่ละประเทศ