thansettakij
"BOI" ชูไทยฮับบุคลากรต่างชาติทักษะสูง อนุมัติวีซ่าแล้ว 5.6 หมื่นคน

"BOI" ชูไทยฮับบุคลากรต่างชาติทักษะสูง อนุมัติวีซ่าแล้ว 5.6 หมื่นคน

30 พ.ค. 2567 | 06:13 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2567 | 06:13 น.

"BOI" ชูไทยฮับบุคลากรต่างชาติทักษะสูง อนุมัติวีซ่าแล้ว 5.6 หมื่นคน ทั้งผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ กลุ่ม Startup ชี้มีแนวโน้มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ทั้งบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญพิเศษ (Talent) นักลงทุน และผู้ที่ต้องการเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทย

โดยมีแนวโน้มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งแนวโน้มการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและบุคลากรที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งกลุ่ม Talent ต่างชาติเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาทำงานร่วมกับบุคลากรไทย เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีบุคลากรต่างชาติกว่า 56,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญชาติญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่ได้รับอนุมัติผ่านศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Stop Service) 
 

“ท่ามกลางกระแสการแย่งชิงบุคลากรที่มีศักยภาพสูง หรือ Talent War ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยมีศักยภาพหลายด้านที่ดึงดูด Talent และบุคลากรชาวต่างชาติที่มีคุณภาพสูงให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัย ทั้งโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย ความน่าอยู่และความเป็นมิตรของคนไทย ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัล โรงเรียนนานาชาติกว่า 200 แห่ง โรงพยาบาลชั้นนำมาตรฐาน JCI มากกว่า 60 แห่ง ซึ่งสูงสุดในอาเซียน สามารถรองรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และที่สำคัญคือการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเป็นภารกิจที่บีโอไอให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเดินหน้าพัฒนาการให้บริการของศูนย์ One Stop Service รวมทั้งระบบบริการออนไลน์ Single Window ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” 

"BOI" ชูไทยฮับบุคลากรต่างชาติทักษะสูง อนุมัติวีซ่าแล้ว 5.6 หมื่นคน "BOI" ชูไทยฮับบุคลากรต่างชาติทักษะสูง อนุมัติวีซ่าแล้ว 5.6 หมื่นคน

อย่างไรก็ดี ในจำนวนบุคลากรต่างชาติกว่า 56,000 คน ที่ได้รับอนุมัติให้เข้ามาทำงานและพำนักในประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจำนวนประมาณ 50,000 คน 

นอกจากนี้ เป็นชาวต่างชาติที่ได้รับอนุมัติภายใต้ SMART Visa ซึ่งเป็นวีซ่าเพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงเข้ามาทำงานและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งกลุ่ม Startup รวมทั้งสิ้น 2,170 คน ส่วนใหญ่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเยอรมัน

สำหรับวีซ่าพำนักระยะยาวหรือ Long-Term Resident Visa (LTR Visa) ซึ่งเป็นมาตรการล่าสุดที่รัฐบาลได้มอบหมายให้บีโอไอเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มเข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ 2) ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 3) ผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง 4) ผู้เกษียณอายุ รวมทั้งผู้ติดตาม สามารถพำนักในประเทศไทยได้ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้าออกประเทศ 

อีกทั้งจะได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เหลือ 17% และยังได้รับการผ่อนปรนระยะเวลาการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จากปกติทุก 90 วัน เป็นปีละ 1 ครั้ง โดยปัจจุบันได้อนุมัติ LTR Visa รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน มาจากสหรัฐอเมริกามากที่สุด 791 คน รองลงมา ได้แก่ รัสเซีย 479 คน สหราชอาณาจักร 332 คน จีน 277 คน เยอรมัน 236 คน ญี่ปุ่น 207 คน และฝรั่งเศส 198 คน

ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติวีซ่าดังกล่าวให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับโลกที่มีการลงทุนหรือตั้งสำนักงานในประเทศไทยหลายแห่ง เช่น บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี, บริษัท โรเบิร์ตบ๊อช ออโตโมทีฟ เทคโนโลยีส์, บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์, บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์, บริษัท ไอเอชไอ พาวเวอร์ ซิสเต็ม, บริษัท ดูคาติ มอเตอร์, บริษัท อะเมซอน ดาต้า เซอร์วิสเซส เป็นต้น

สำหรับ Smart Visa และ LTR Visa ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเข้ามาทำงานในระยะยาว กระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเกิดเม็ดเงินในการใช้จ่ายโดยตรงของชาวต่างชาติกระจายไปยังภาคส่วนอื่นของประเทศ