รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นโยบาย “เรือธง” ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นกัปตัน อาจจะ “ไม่เข้าเป้า” ตามไทม์ไลน์ที่ “เจ้ากระทรวงคมนาคม” ให้ "สัญญาประชาคม" ภายใน 1 ปี "คนกรุง" จะได้นั่งรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสุดสายแน่นอน
“จุดตัด” ของ “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” อยู่ที่ “กฎหมายตั๋วร่วม” ที่ให้ “อำนาจเต็ม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการเปิดทาง "รื้อ-ร่าง" สัญญาสัมปทาน "รถไฟฟ้าหลากสี" ทั้งใต้ดิน-ลอยฟ้า ซึ่งสามารถ "ซื้อเวลา" ได้ถึง 1 ปี นับจาก พ.ร.บ.ตั๋วร่วม - "กฎหมายลำดับรอง" ประกาศใช้
สำหรับ “กฎหมายตั๋วร่วม” ขณะนี้อยู่ระหว่าง “รอข้อสรุป” จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม “ครั้งสุดท้าย” ในวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ก่อนจะนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
“หัวใจ” ของร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... 2 หมวด 1 บทเฉพาะกาล 8 มาตรา โดยเฉพาะการให้อำนาจ “คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม” ที่มี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็น “นั่งหัวโต๊ะ” โดยตำแหน่งออก "กฎกระทรวง" กำหนด "อัตราราคาค่าโดยสารร่วม" และ "เปิดทาง" กทม.-รฟม. เจรจาสัญญาสัมปทานกับเอกชนให้เสร็จภายใน 1 ปี
หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม มาตรา 5 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธานกรรมการ
กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก อธิบดีกรมการขนส่งทางราง อธิบดีกรมเจ้าท่า
เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่ากทม.) และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ด้านการเงิน ด้านการตลาด ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อระบบตั๋วร่วม
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มอบหมายข้าราชการของสำนักงานจำนวน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
หมวด 4 อัตราค่าโดยสารร่วม มาตรา 25 ให้ “คณะกรรมการ” มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ “อัตราค่าโดยสารร่วม” โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนหรือเทคโนโลยีให้คณะกรรมการมีอำนาจปรับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารร่วม
มาตรา 26 การกำหนด "อัตราค่าโดยสารร่วม" ให้เป็นไปตามที่กำหนดใน “กฎกระทรวง” โดยจะต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารร่วมตามที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 25
มาตรา 27 ให้สำนักงาน (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) กำกับดูแลอัตราค่าโดยสารร่วมที่ผู้รับใบอนุญาตการให้บริการระบบตั๋วร่วมกำหนดให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดตามมาตรา 26
มาตรา 28 ให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการขนส่งสาธารณะจะต้องนำอัตราค่าโดยสารร่วมที่กำหนดตามมาตรา 26 ไปใช้บังคับในกรณีที่มีการจัดทำสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือ สัญญาร่วมลงทุนที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วม
บทเฉพาะกาล มาตรา 42 บรรดาระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามคำแนะนะของคณกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ.2563 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 43 การดำเนินการออกประกาศ ข้อบังคับ และระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับใช้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
มาตรา 45 เมื่อรัฐมนตรีได้ออก “กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม” ตามมาตรา 26 แล้ว ในกรณีที่อัตราค่าโดยสารร่วมดังกล่าวจะกระทบต่อสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงานหรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี
“ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนดำเนินการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี ให้สอดคล้องกับอัตราค่าโดยสารร่วมที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่ วันที่กฎกระทรวงประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมใช้บังคับ”
ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชน รายงานต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดรายงานความคืบหน้าของการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุก 60 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ
สำหรับ "ไทม์ไลน์" ร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม ที่จะนำไปสู่ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
กว่าคนกรุงจะได้นั่ง “รถไฟฟ้าราคาถูก” อาจจะต้องรอไปถึงปี 70