นายพรชัย รีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 – เม.ย.2567) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิอยู่ที่ 1,386,040 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 39,102 ล้านบาทหรือ 2.7%
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมัน ดีเซลและน้ำมันเบนซิน ประกอบกับการจัดเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
โดยรายได้รัฐบาลสุทธิจัดเก็บได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้พิเศษรวม 53,130 ล้านบาท หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5%
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2567 ยอมรับว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการลดภาษีน้ำมัน ซึ่งคนที่แบกรับคือกรมสรรพสามิต ทำให้สูญเสียรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านบาท
ดังนั้น การจัดเก็บที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายจึงเข้าใจได้ แต่กรมยืนยันว่าจะเดินหน้าขับเคลื่อนการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพต่อไป เพื่อให้ใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้มากที่สุด
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี รวมกันอยู่ที่ 1,463,872 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 35,498 ล้านบาท หรือ 2.4% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 38,876 ล้านบาท หรือ 2.7% แบ่งออกเป็น
ขณะที่ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 – เม.ย.2567) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,362,102 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 1,769,691 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 294,880 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 430,076 ล้านบาท