รัฐบาลเตรียมคลอด “มาตรการเยียวยาแรงงาน" ช่วยประคองเลิกจ้าง

04 มิ.ย. 2567 | 08:51 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2567 | 11:23 น.

นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” สั่งรองนายกฯ “พิชัย” ประชุมร่วมกระทรวงการคลัง-แรงงาน คลอดมาตรการเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน หลังเห็นสัญญาณการปิดกิจการและการเลิกจ้างงานเกิดขึ้นต่อเนื่อง

วันนี้ (4 มิถุนายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งข้อสั่งการและมอบนโยบายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยขอให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ร่วมกันออกมาตรการเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน ภายหลังเห็นสัญญาณการปิดกิจการและการเลิกจ้างงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"มาตรการที่จะออกมา นายกฯ ได้แสดงความเป็นห่วงแรงงานและผู้ประกอบการในไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่เติบโตไม่ได้ตามศักยภาพของประเทศ หรือเติบโตต่ำว่าที่เราอยากให้เป็น โดยผลกระทบจากเศรษฐกิจที่เติบโตเท่าที่ควร จึงเกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ รวมทั้งโรงงานทั่วประเทศต้องปิดตัวลง หรือเลิกการจ้างงานเกิดขึ้น" โฆษกรัฐบาล ระบุ 

ดังนั้น นายกฯ จึงสั่งการให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมกันเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาแรงงาน โดยให้หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานอย่างเหมาะสม และให้นำมารายงานต่อ ครม. ในครั้งต่อไป

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลได้รับรายงานสถานภาพการจ้างงานของไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะพิจารณาสัญญาณเตือนภัยด้านแรงงาน ที่มีการคำนวณมาจากดัชนีทางเศรษฐกิจ 26 ตัวชี้วัด มีด้วยกัน 3 ระดับ คือ ตั้งแต่ระดับ 0-1.1 คือ ระดับสีเขียว ตั้งแต่ระดับ 1.1-1.5 คือระดับสีเหลือง และตั้งแต่ระดับ 1.5 ขึ้นไป อยู่ในระดับสีแดง โดยตัวเลขล่าสุดในปี 2567 ยังอยู่ในระดับ 0.3 ถือว่ายังอยู่ในกลุ่มสีเขียว

"แม้การจ้างงานจะอยู่ในระดับสีเขียว แต่นายกฯ ไม่รอให้สถานการณ์ตกไปสู่ระดับสีเหลือง โดยประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า 12 เดือน จะยังคงปกติอยู่ แต่กลับพบว่า มีตัวเลขบางอย่างเกี่ยวกับการจ้างงานที่ต้องดูแลเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อน จึงให้ทั้งสองหน่วยงานหารือ เพื่อเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า" โฆษกรัฐบาล กล่าว

ส่วนมาตรการที่จะออกมาช่วยเหลือเยียวยาครั้งนี้นั้น จะเป็นมาตรการทางด้านการเงิน โดยการให้เงินช่วยเหลือ หรือจะออกมาเป็นมาตรการภาษีในรูปแบบใดนั้น โฆษกรัฐบาล ยอมรับว่า ทั้งสองหน่วยงานจะสรุปมาให้โดยเร็วที่สุดว่าจะเป็นการช่วยเหลือในรูปแบบใด