“สลาก N3” หรือ สลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก กำลังใกล้ที่จะออกมาเปิดให้บริการแล้ว หลังจากที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบกฎหมายสำคัญ นั่นคือ ร่างกฎกระทรวงการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
โดยนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า สลาก 3 หลัก หรือ สลาก N3 จะเป็นสลากรูปแบบใหม่เพิ่มเติมจากสลาก 6 หลักที่มีในปัจจุบัน ซึ่งซื้อหนึ่งครั้ง เราจะเล่นได้ 4 เกมส์ (ลุ้นได้ 4 รางวัล) คือ 3 ตัวตรง, 2 ตัวตรง, 3 ตัวสลับหลัก และรางวัลพิเศษ
ขณะเดียวกันสลาก N3 นี้ ถ้าไม่ถูกรางวัลในงวดนี้ สามารถสะสมเงินรางวัลไปอีกงวดหนึ่งได้ แต่ได้แค่งวดเดียวเท่านั้น ถ้าอีกงวดหนึ่งยังไม่มีคนถูกรางวัลพิเศษอีก ก็นําเงินส่งเข้ารัฐเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งรายละเอียดทั้งหมด นายกฯ บอกว่า ขอให้ติดตามการแถลงข่าวของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อไป
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบรายละเอียดสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่เสนอเข้ามายังครม.ครั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินจากการจำหน่าย สลากฯ ตัวเลขสามหลัก (N3) ดังนี้
รูปแบบของสลากฯ N3
เป็นสลากประเภทสมทบเงินรางวัล ซึ่งประกอบด้วยหมายเลข ให้เลือก 3 หลัก แต่ละหลักมี 10 หมายเลข ตั้งแต่ 0 ถึง 9 (000-999 และไม่กำหนดหมายเลขไว้ในระบบล่วงหน้า) โดยผู้ซื้อสามารถเลือกหมายเลขแต่ละหลักให้ครบ 3 หลัก และสามารถเลือกหมายเลขแต่ละหลักซ้ำกันได้ (เป็นรูปแบบใหม่ที่สำนักงานสลากฯ ยังไม่เคยดำเนินการมาก่อน)
การจัดสรรเงินรางวัล
สำนักงานสลากฯ จัดสรรให้ 60% จากการจำหน่ายสลากฯ ตัวเลขสามหลักในแต่ละงวด (ไม่สามารถระบุเงินรางวัลได้ชัดเจน เนื่องจากเงินรางวัลจะแปรผันตามจำนวนผู้ที่ซื้อสลากฯ)
การสมทบเงินรางวัล
ในการออกรางวัลประเภทใดไม่มีผู้ถูกรางวัลในงวดนั้น ให้นำเงินที่จัดสรรไว้สำหรับรางวัลประเภทนั้นสมทบไปเพื่อจ่ายเป็น เงินรางวัลสำหรับรางวัลประเภทเดียวกันในงวดถัดไป แต่ไม่เกินหนึ่งงวด ทั้งนี้หากการออกรางวัลงวดถัดไปไม่มีผู้ถูกรางวัลในรางวัลประเภทนั้นอีก ให้นำเงินรางวัลสมทบในประเภทนั้นนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
ทั้งนี้ สลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลักมีประเภทรางวัลตามที่กำหนดไว้ในร่างประกาศสำนักงาน สลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก ดังนี้
สำหรับที่มาที่ไปของการออกสลากฯ N3 ครั้งนี้ ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประชุมครม. ขณะนั้นได้มีมติรับทราบการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยเห็นชอบในหลักการการออกผลิตภัณฑ์สลากฯ ตัวเลขหกหลัก (Lottery : L6) และสลากฯ ตัวเลขสามหลัก (Number 3 : N3)
โดยให้สำนักงานสลากฯ รับความเห็นของ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้อง รอบคอบ ครบถ้วน แล้วนำร่างประกาศกำหนดประเภท และรูปแบบสลากฯ เสนอครม.ตามขั้นตอนต่อไป
ต่อมาสำนักงานสลากฯ ได้ปฏิบัติตามมติครม. โดยได้นำความเห็นของคลัง และ สศช. มาประกอบการจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ และร่างประกาศฯ รวม 3 ฉบับ แล้ว จึงได้เสนอกฎหมายมาให้ครม. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เพื่อพิจารณา ดังนี้
ทั้งนี้กฎหมายยทั้ง 3 ฉบับนี้ ได้ผ่านการพิจารณาจาก ครม. โดยครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนด ประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (L6) และร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่ง รัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก (N3) รวม 2 ฉบับ
ส่วนร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก ครม.ได้มีมติอนุมัติหลักการ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน
ต่อมาได้มีการประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (L6) ได้ประกาศในราชกิจนุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 และปัจจุบันสำนักงานสลากฯ ได้ดำเนินการออกสลากฯ L6 เพื่อออกจำหน่ายแล้ว
ขณะที่ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบ สลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก (N3) ยังไม่ได้ประกาศใช้บังคับ เนื่องจากสลากฯ ตัวเลขสามหลักเป็นสลากฯ ประเภทสมทบเงินรางวัล จึงต้องมีกฎกระทรวงว่าด้วยการสมทบเงินรางวัลตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากฯ พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ดังนั้น จึงต้องรอร่างกฎกระทรวงการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก (N3) พ.ศ. .... เพื่อประกาศใช้บังคับควบคู่กัน
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งว่า ได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเสร็จแล้ว โดยมีการแก้ไขเล็กน้อย และแก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวง เป็น ร่างกฎกระทรวงการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก พ.ศ. .... โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและสำนักงานสลากฯ ได้มีหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎกระทรวงนี้แล้ว
ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงได้ส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ให้กระทรวงการคลังพิจารณายืนยันอีกครั้งหนึ่ง จึงได้นำมาเสนอครม.เพื่อเห็นชอบร่างกฎกระทรวงในครั้งนี้