แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และการแก้ปัญหาโครงการนั้น เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน ในการประชุม ได้รับทราบข้อสรุปผลการเจรจาเรื่อง หลักการแก้ไขปัญหาโครงการตามที่ รฟท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบจ.เอเชีย เอรา วัน (บริษัทในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) คู่สัญญาผู้รับสัมปทาน ได้ตกลงร่วมกันแล้ว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (คณะกรรมการกำกับสัญญาฯ) ตามพ.ร.บ. อีอีซี ได้มีการประชุมและรับทราบผลการแก้ไขปัญหาตามที่คณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ได้ข้อสรุปแล้ว เบื้องต้นตามแผนจะเสนอบอร์ดกพอ.พิจารณาอีกครั้ง หลังจากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯ ส่วนแก้ไขเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จ สามารถลงนามแก้ไขสัญญาได้ในปลายปี 2567 และรฟท.จะสามารถส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) เริ่มก่อสร้างไม่เกินต้นปี 2568
“หลักการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ภายใต้หลักการภาครัฐ โดยรฟท.ไม่เสียผลประโยชน์ และเอกชนจะไม่ได้รับผลประโยชน์เกินควร ซึ่งทุกฝ่ายต้องการให้โครงการได้เริ่มต้นเดินหน้าก่อสร้างเสียที เนื่องจากลงนามสัญญามานานแล้ว”
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า การแก้ไขสัญญาครั้งนี้ เป็นการปลดล็อคเงื่อนไข ที่ทำให้โครงการต้องติดขัดเดินหน้าไม่ได้ และยังทำให้รัฐมั่นใจว่าโครงการสำเร็จตามเป้าหมาน รวมถึงภาครัฐไม่ต้องรับความเสี่ยง โดยเอกชนยอมวางแบงก์การันตีเท่ามูลค่าก่อสร้าง
“กรณีที่เอกชนไม่ทำโครงการต่อ รฟท. ยังมั่นใจว่ามีเงินที่จะก่อสร้างโครงการต่อไปได้ อีกทั้ง รูปแบบงาน หลังก่อสร้างเสร็จเอกชนจะต้องโอนกรรมสิทธิ์รฟท.ทันที รูปแบบ B-T-O ดังนั้นหากเกิดเหตุ ที่อาจทำให้ต้องยกเลิกสัญญาระหว่างทาง โครงการนี้จะไม่ซ้ำรอย โฮปเวลล์ที่ ยกเลิกสัญญาแล้ว แต่รฟท.เข้าพื้นที่ไม่ได้ เพราะเอกชนยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่”
สำหรับการแก้ไขสัญญา มี4 ประเด็น คือ 1. ปรับให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) โดย รฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งกพอ.ได้เห็นชอบและรายงานครม.รับทราบไปก่อนหน้านี้แล้ว
2.การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนโครงการ (PIC) คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันไม่น้อยกว่า 119,425 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้รัฐร่วมลงทุนในปีที่ 6 -ปีที่ 15 หรือเมื่อก่อสร้างโครงการเสร็จเปิดเดินรถแล้ว แต่เนื่องจากการดำเนินงานมีปัญหาอุปสรรค ทั้งโรคโควิด-19 สถานการณ์สงคราม รัสเซีย - ยูเครน และวิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงิน อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เอกชนไม่สามารถกู้เงินได้ จึงเสนอแก้ไข ปรับการจ่ายเงินที่ฝ่ายรัฐร่วมลงทุนให้เร็วขึ้น เป็นเดือนที่ 18 หรือประมาณ 1 ปีครึ่ง นับจากออก NTP ซึ่งจะเป็นการปรับจาก รัฐจ่ายร่วมลงทุนเมื่อโครงการเสร็จเป็น สร้างไป- จ่ายไป
3. ยกเลิกเงื่อนไขออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) เดิมที่ระบุให้เอกชน ผู้รับสัมปทานฯ ต้อง ขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อน รวมไปถึงเรื่องการส่งมอบพื้นที่ TOD มักกะสันขนาด 150 ไร่ โดยเอกชนต้องจดทะเบียนสิทธิการเช่า ปัญหาที่ต้องถอนสภาพ ‘ลำรางสาธารณะ’ ก่อน ทั้งหมด เป็นการปลดล็อก และจะทำให้รฟท.สามารถออก NTP ได้ทันทีหลังลงนามแก้ไขสัญญา
4.ให้เอกชน วางหนังสือค้ำประกันโดยธนาคารสัญญาหรือ แบงก์การันตี เพิ่มเติมอีก 2 ส่วน คือ 1. แบงก์การันตีในส่วนของค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท เพื่อยืนยันกรณีแบ่งจ่ายค่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากงวดเดียวเป็น 7 งวด โดยเมื่อแก้ไขสัญญา เอกชนจ่ายงวดแรก 1,067 ล้านบาท และวางแบงการันตีที่เหลือประมาณ 9,600 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมทางการเงินอื่นๆ ที่ต้องจ่ายจากการผ่อนชำระจะแยกจ่ายอีกส่วนหนึ่งในแต่ละงวด ทั้งนี้หลังลงนามแก้ไขสัญญา เอกชนต้องชำระค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์งวดแรกทันที
ส่วนที่ 2 เป็นแบงก์การันตี เต็มวงเงินค่าก่อสร้างหรือในส่วนของเงินฝ่ายรัฐร่วมลงทุน วงเงิน 119,425 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ภาครัฐมีความมั่นใจว่าเอกชนคู่สัญญาจะสามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ กรณีปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินภาครัฐจากปีที่ 6 เป็นสร้างไปจ่ายไป โดยวางแบงก์การันตีภายใน 270 วันหลังลงนามแก้ไขสัญญา