โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน ระหว่างดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท บริเวณพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นบริษัทเอกชนคู่สัญญากับรัฐ สัญญาสัมปทาน 50 ปี ยังเป็นประเด็นร้อน
ที่รัฐและเอกชนต้องหาทางออกร่วมกัน หลัง ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินยังติดปัญหาแก้ไขสัญญาร่วมกับเอกชนผู้รับสัมปทานหรือซีพี โดยเฉพาะประเด็นที่เอกชนได้ขอบีโอโอขยายเวลาการขอออกบัตรส่งเสริมการลงทุน เพื่อเดินหน้าโครงการต่อ แต่ปัจจุบันระยะเวลาการขยายออกบัตรส่งเสริมฯสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จากเดิมสิ้นสุดเมื่อวันที่ 22 มกราคม2567
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.รับทราบหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน ระหว่างดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19, สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนและวิกฤตของระบบสถาบันการเงิน
เบื้องต้นรฟท.จะสรุปแนวทางหลักการเจรจาในครั้งนี้เพื่อเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกำกับสัญญาฯ และคณะกรรมการกพอ.เห็นชอบ ก่อนแก้ไขร่างสัญญาฯ หลังจากนั้นจะส่งร่างแก้ไขสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบก่อนนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572
“หลักการเจรจาแก้ไขสัญญาในครั้งนี้คือภาครัฐจะไม่เสียประโยชน์มากเกินไปในกรอบของสัญญา ส่วนเอกชนต้องไม่รับผลประโยชน์เกินควร”
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการเจรจายังคงเป็นกรอบเดิมที่เคยรายงานในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย 3 ประเด็น
1.การจ่ายค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671 ล้านบาท แบ่งชำระ 7 งวด 2.เงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ (Public Investment Cost) เบื้องต้นรฟท.เห็นด้วยกับเอกชนจากปัญหาอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้น โดยเอกชนจะเริ่มชำระเงินงวดแรกในปี 2567 ทั้งนี้จะต้องวางหนังสือค้ำประกันทางการเงิน (แบงก์การันตี) ภายใน 270 วัน วงเงิน 1.29 แสนล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการหลังลงนามแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จ
การให้สถาบันการเงินมาการันตีในครั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐต้องการความมั่นใจว่าเอกชนคู่สัญญาจะเดินหน้าต่อทั้งการเบิกจ่ายหรือการแบ่งงวดจ่ายใดๆ ทางรฟท.และสกพอ.ได้เจรจาให้เอกชนนำสถาบันการเงินมาวางการันตีเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์จากการอุดหนุนจ่ายค่าก่อสร้างเร็วกว่ากำหนด จากเดิมรัฐจะชำระค่าก่อสร้างให้เอกชนต่อเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ครั้งนี้ในช่วงระหว่างก่อสร้างเอกชนขอให้ภาครัฐชำระเงินงวดแรกในเดือนที่ 18 นับจากวันที่ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP)
3.การออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) นั้นในการเจรจาร่วมกับเอกชนได้เสนอให้ตัดสิทธิ์เงื่อนไขสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกจากสัญญาฉบับนี้ด้วย เนื่องจากเลยกำหนดระยะเวลาการขยายขอออกบัตรส่งเสริมด้านการลงทุน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องบีโอไอจะไม่อยู่ในเงื่อนไขการออก NTP อีกต่อไป
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ช่วงพื้นที่ทับซ้อนโครงสร้างร่วมสัญญา 4-1 บางซื่อ-ดอนเมืองในโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน (ไฮสปีด) ระยะที่ 1 ปัจจุบันเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงสร้างร่วม ส่วนโครงสร้างทางวิ่งภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการขอกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มเติม 4,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวว่า ปัจจุบันรฟท.อยู่ระหว่างเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนกับเอกชน ซึ่งจะเจรจาในหลักการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการอีอีซี ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ภายในเดือนมิถุนายน 2567 โดยจะเสนอต่อครม.เห็นชอบและเสนอต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบก่อนลงนามสัญญา คาดว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาได้ภายในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2567
“ปัจจุบันยังไม่ได้พิจารณารายละเอียดสิทธิประโยชน์ เพราะต้องรอว่าเอกชนจะดำเนินการต่อหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ค้างคากับทางบีโอไอ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าหากเอกชนได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอแล้ว รฟท.สามารถให้เอกชนเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ ขณะนี้ทางเอกชนยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการไฮสปีดต่อ ทำให้เขามีแผนจะเจรจาขอปรับสัญญาให้แล้วเสร็จ ส่วนสาเหตุที่เอกชนจะขอใช้สิทธิประโยชน์ของอีอีซีแทนบีโอไอ เนื่องจากเอกชนมองว่าการเริ่มโครงการรถไฟ 3 สนามบินควรเริ่มดำเนินการให้ชัดเจนก่อน โดยสิทธิประโยชน์ของอีอีซีจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเขาตัดสินใจแล้วว่าจะดำเนินการลงทุนโครงการไฮสปีด และอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ด้วย”
นายจุฬา กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ขยายเวลาในการส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้แก่เอกชน 4 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 22 มกราคม 2567 เป็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เบื้องต้นเอกชนสามารถขอใช้สิทธิประโยชน์ของอีอีซีแทนสิทธิประโยชน์ของบีโอไอได้ตามกฎหมายหากหมดอายุแล้ว แต่ปัจจุบันเอกชนยังไม่ได้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จากอีอีซี
“เมื่อเอกชนลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนแล้วเสร็จจะมีกฎหมายของอีอีซีอีก 1 ฉบับที่จะระบุว่าเอกชนจะได้สิทธิประโยชน์ด้านใดบ้าง โดยเอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่เอกชนได้ลงทุนในเรื่องนั้นๆ ทำให้รายได้ผลตอบแทนแต่ละกิจกรรมแตกต่างกันซึ่งสิทธิประโยชน์ของอีอีซีดีกว่าสิทธิประโยชน์ของบีโอไอตรงที่สิทธิประโยชน์ของเราครอบคลุมมากกว่า เพราะมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับรอบสถานีรถไฟ,พื้นที่เชิงพาณิชย์, สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร, วีซ่า ฯลฯ”
นายจุฬา กล่าวต่อว่า หากเอกชนลงนามแก้ไขสัญญาฯแล้ว ตามสัญญาร่วมทุนจะมีการแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติม โดยกระบวนการเอกชนจะต้องยื่นแผนการลงทุนขอใช้สิทธิประโยชน์กับทางอีอีซี โดยอีอีซีจะพิจารณาจากแผนลงทุนที่เอกชนยื่นขอ หากมีการลงทุนเยอะที่มีผลทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น หลังจากนั้นจะเจรจาต่อรองร่วมกันตามเกณฑ์ของอีอีซี โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน