สำนักงบฯ เตือน อว. เพิ่มอำนาจสถาบันวิจัยฯตั้งบริษัท หวั่นรัฐกระเป๋าฉีก

13 มิ.ย. 2567 | 07:31 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2567 | 07:48 น.

สำนักงบประมาณ เตือนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพิ่มอำนาจให้ "สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)" จัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่น จัดตั้งบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัดได้ เสี่ยงกระทบภาระงบรัฐพุ่ง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณ ได้เสนอความเห็นเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอเข้ามาเพื่อแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมาย เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ในเรื่องดังต่อไปนี้

1. เพิ่มวัตถุประสงค์ของ วว. ให้สามารถดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลงานวิจัยและนวัตกรรมหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ การพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ วว. ให้รองรับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามข้อ 1 โดยให้ วว. สามารถรับค่าบำรุง ค่าใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รายได้ และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดที่ได้จากการดำเนินกิจการภายในอำนาจหน้าที่ การให้บริการทดสอบ ตรวจสอบ ตรวจวัด วิเคราะห์ สอบเทียบ ตรวจประเมิน ประเมินความเสี่ยง และรับรองระบบคุณภาพและผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานแห่งชาติและมาตรฐานอื่น พัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ 

รวมทั้งบริการอื่นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การกู้ยืมเงิน ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน หรือให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สิน ถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน และลงทุนหรือร่วมลงทุน 

ทั้งนี้ หากการดำเนินการดังกล่าวเป็นจำนวนเงินเกินคราวละ 20 ล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเพิ่มอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นจัดตั้งนิติบุคคล หรือลงทุน หรือร่วมลงทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของ วว. หรือเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น และการดำเนินกิจการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ วว.

3. ปรับปรุงรายได้ของ วว. ให้ครอบคลุมรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ทั้งที่มาจากการให้กู้ยืมเงิน การลงทุน การร่วมลงทุน จากทรัพย์สิน และจากการดำเนินกิจการ ภายในอำนาจหน้าที่ รวมทั้งดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงิน การลงทุน และจากทรัพย์สินของ วว.

อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณ ได้พิจารณาแล้ว และมีข้อสังเกตในร่างมาตรา 7 (11) ดังนี้ 

1. การเพิ่มอำนาจให้สถาบันสามารถจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่น จัดตั้งบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัดได้ และหากสถาบันเข้าไปมีทุนร่วมอยู่ด้วยเกิน 50% จะมีผลให้บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ซึ่งสามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณได้ 

ดังนั้น การจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ สถาบัน ควรคำนึงถึงผลการดำเนินงานที่ไม่ควรก่อให้เกิดภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นแก่รัฐ

2. กรณีการจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นจัดตั้งบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคล อย่างอื่น และสถาบันเข้าไปมีทุนร่วมอยู่ด้วยไม่ถึง 50% แม้จะไม่ทำให้บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอย่างอื่นที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณก็ตาม 

แต่พระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่รายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสถาบันและค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม และสถาบันไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้ รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่สถาบันเท่าจำนวนที่จำเป็น 

ดังนั้น การจัดตั้งบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอย่างอื่น สถาบันควรคำนึงถึงผลการดำเนินการ ที่ไม่ควรก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นของสถาบัน ซึ่งอาจให้รัฐต้องจ่ายเงินให้สถาบัน ตามนัยมาตรา 8 ดังกล่าว

ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอย่างอื่นที่สถานั้นเข้าไปมีทุนร่วมอยู่ด้วยเกิน 25% สถาบันจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมลงทุน และการกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบและเห็นชอบ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 ด้วย

ขณะเดียวกัน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม วว. ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมบุคลากรภายในหน่วยงานในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคมในทางปฏิบัติให้สามารถเกิดผลในวงกว้าง 

รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสะท้อนแนวทางการปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานขององค์กรให้มีความเหมาะสมและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมั่นคงต่อไป