สัญญาณเตือน อุตสาหกรรมแห่ปิดตัว-ย้ายฐาน GDP ไทยต่ำสุดอาเซียน

13 มิ.ย. 2567 | 23:05 น.

“ธนิต โสรัตน์” มองสัญญาณเตือน เศรษฐกิจไทย หลังพบอุตสาหกรรมแห่ปิดตัว และย้ายฐานการผลิต พร้อมทั้งรายงาน ธนาคารโลกปรับ GDP ไทยต่ำสุดในภูมิภาค ความท้าทายของไทยที่จะต้องก้าวผ่าน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยบทความวิชาการเรื่อง ธนาคารโลกปรับ GDP ไทยต่ำสุดในภูมิภาค มาพร้อมกับอุตสาหกรรมแห่ปิดตัว-ย้ายฐาน สัญญาณบ่งบอกอะไร มีเนื้อหาที่น่าสนใจระบุว่า 

ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมายังอยู่ในภาวะจำศีลสะท้อนจากธนาคารแห่งประเทศไทย-หน่วยงานรัฐด้านเศรษฐกิจและศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือ ประสานปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2567 จากเฉลี่ยต้นปี 3.2% เหลือเฉลี่ย 2.54% ล่าสุดต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาธนาคารโลกหรือ “World Bank” ปรับลด GDP ของไทยจาก 2.8% เหลือ 2.4% เป็นอัตราที่ต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.8% 

ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ยังติดกับดักเงินเฟ้อและขาดกำลังซื้อ เช่น สหรัฐอเมริกาคาดว่าขยายตัวได้ดีขึ้นเป็น 2.8% ประเทศในกลุ่มยูโรโซนขยายตัวได้ในอัตราต่ำเฉลี่ย 0.7% ญี่ปุ่น 0.9% ประเทศในอาเซียนเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี เช่น เวียดนาม 5.7% ประเทศอินโดนีเซีย 5.1% ขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้าและผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกเศรษฐกิจขยายตัวได้ 4.8%

ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยทั้งภาคส่งออกและท่องเที่ยวพึ่งพิงกับเศรษฐกิจโลกในระดับที่สูงส่งออกช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้ 1.42% เป็นการขยายตัวที่มาจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรแปรรูป ข้อกังวลเกี่ยวข้องกับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลง ช่วง 15 เดือนที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมทั้งรายใหญ่และรายเล็กแห่กันปิดตัวมากกว่า 1,504 ราย เพิ่มขึ้นถึง 60% กระทบการจ้างงาน 42,000 คน 

สอดคล้องกับจำนวนคนว่างงานล่าสุด (มี.ค. 67) มีจำนวน 4.36 แสนคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้านั้น 3.9 หมื่นคน ผู้ว่างงานส่วนใหญ่เกือบครึ่งหรือ 46% เป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน ข้อมูลที่น่าสนใจคือการว่างงานในระบบประกันสังคมเฉียด 2% จำนวนคนว่างงาน 2.288 แสนคน เป็นการว่างงานรายใหม่เดือนเมษายนประมาณ 66,223 คน และว่างงานจากการเลิกจ้าง 37,552 คน 

นายธนิต ระบุว่า สัญญาณการปรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยซึ่งต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบ่งบอกถึงปัญหาทางโครงสร้างที่มาจากเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ในช่วงทรงตัวยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังโควิด-19 ส่วนหนึ่งเกิดจากบาดแผลในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส ความขัดแย้งในภูมิภาคยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาสและวิกฤตทะเลแดง ด้านการเมืองในประเทศ เช่น 

ความล่าช้างบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาล ความไม่แน่นอนจากคดียุบพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล การแย่งชิงอำนาจของกลุ่มอนุรักษ์ขั้วเก่าและอนุรักษ์ใหม่เกี่ยวข้องกับคดีนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในระหว่างศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารวมถึงบทบาทของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ ที่มีชนักปักหลัง ม.112 ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยกระทบความเชื่อมั่นด้านกระบวนการยุติธรรมและทิศทางการเมืองซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุน

ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย ซึ่งกลายเป็นผู้ป่วยแห่งเอเชียในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโตโดยเฉลี่ยเพียงแค่ 1.8% ปีที่ผ่านมา GDP ขยายตัวได้ 1.9% ไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 1.5% ทั้งปีคาดว่าประมาณขยายตัว 2.54% รากลึกของปัญหานอกจากที่กล่าวไปแล้วคือ “การกินบุญเก่า” จากภาคท่องเที่ยว-การลงทุน (FDI) และการส่งออกใช้จุดแข็งจากอุตสาหกรรมยุคดั้งเดิมผ่านมาสองทศวรรษแทบไม่เปลี่ยนแปลง 

ความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่คือการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสมาร์ทเทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นการเปลี่ยนแบบ “Big Change” ที่ไทยต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อการก้าวผ่าน 
ต้องยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนรับมือการเปลี่ยนแปลงของไทยทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงภาคแรงงานค่อนข้างช้า ที่กำลังเป็นปัญหาคือกระแสรถ EV ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ในเชิงมูลค่าเป็น 1 ใน 5 ของการส่งออก 

โดยโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องมีอุตสาหกรรมมากกว่า 2,500 รายและแรงงานกว่า 7.5 แสนคน ตามด้วยอุตสาหกรรมที่กำลังเป็น “Sunset” เช่น ฮาร์ดไดร์ฟ แผงวงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงอุตสาหกรรมยุค 3.0 

ขณะที่โลกกำลังก้าวกระโดดไปสู่อุตสาหกรรมเอไอ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมใหม่ที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ความเป็นจริงคือภาคการผลิตและภาคบริการของไทยยังย่ำอยู่กับกระบวนการผลิตและธุรกรรมการค้าที่เน้นการใช้แรงงานมนุษย์จำนวนมาก 

ทั้งที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบเข้มข้น ขาดแคลนแรงงานจนต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติมากกว่า 3.32 ล้านคนเพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร-แปรรูปเกษตรรวมถึงในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ 1 ใน 2 จาก 46 คลัสเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น
การที่เศรษฐกิจของไทยโตต่ำต่อเนื่องมาเป็นทศวรรษและยังไม่เห็นปัจจัยอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจของเรากลับขึ้นมาอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ GDP โตประมาณ 4.5% ปัญหาที่ตามมาคือการเป็นผู้ป่วยที่ไม่ฟื้นจากไข้อยู่ได้ด้วยบุญเก่าซึ่งขีดความสามารถในการแข่งขันกำลังลดน้อยถอยลงกระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งจะต้องลุ้นทุกปี 

ด้านการลงทุนถึงแม้ว่าปีที่ผ่านมาจะขยายตัวได้ 72% แต่เงินเพียง 1.808 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.6 แสนล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในรถ EV เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามมูลค่าการลงทุนในช่วงเดียวกัน 18.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศอินโดนีเซีย 21.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐและฟิลิปปินส์ที่กำลังเป็นคู่แข่งรายใหม่ที่การลงทุนมูลค่า 6.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

นายธนิต มองว่า การส่งออกของไทยที่เสียแชมป์ให้กับเวียดนามซึ่งมีมูลค่าแซงหน้าไทยไป 1.23 เท่าและประเทศอินโดนีเซียมูลค่าการส่งออกกำลังตามไทยมาติดๆ หากมีการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศจะทำให้ค่าจ้างของไทยทิ้งห่างจากเวียดนาม 1.5 เท่า เป็นความท้าทายของไทยที่จะต้องก้าวผ่านภายใต้โจทย์ที่ต่างไปจากเดิม