อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือบูม! ยอดจองพุ่ง 200% รับแลนด์บริดจ์-เที่ยวทางทะเล

21 มิ.ย. 2567 | 02:13 น.

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางทะเล-อู่ต่อเรือคึกคัก รับ “แลนด์บริดจ์” ด้านพิพัฒน์ เตรียมงบ 250 ล้าน อัพสกิลแรงงาน1 แสนอัตราทั่วประเทศ “เลิศศักดิ์” เผยยอดจองเรือขนาดใหญ่พุ่ง 200% ขณะความต้องการ ซุปเปอร์ยอร์ช 80-90%

ความคืบหน้าโครงการเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” ล่าสุดนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นี้ สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกลุ่มบริษัท และผู้บริหารของ Dubai Port World (DP World) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเล เตรียมเดินทางมาพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือโครงการแลนด์บริดจ์ และจะลงพื้นที่เพื่อสำรวจศักยภาพของการพัฒนาโครงการฯ ด้วย
    “การเดินทางมาพบนายกฯของ DP World ในครั้งนี้ ตอกย้ำได้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่ต่างชาติแสดงความสนใจร่วมทุน และจะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจริง 100% ภายในรัฐบาลนี้ โดยหากมีการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนลงระบบเศรษฐกิจมากถึง 1 ล้านล้านบาท”
 

  • ความต้องการเรือยอร์ชเพิ่ม 90%

ขณะที่ภาคเอกชนสะท้อนความเห็นต่อโครงการแลนด์บริดจ์ว่า หากเกิดขึ้นจริง ตามที่รัฐบาลแสดงความมั่นใจ จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางทะเล และอุตสาหกรรมอู่ต่อเรืออย่างมหาศาล โดยนายเลิศศักดิ์ ปนกลิ่น นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา และที่ปรึกษาสามัญประจำคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฏร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางทะเลจะมีมูลค่าสูงมากในอนาคต

 โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ หากเกิดขึ้นจริงจะมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นอีกมาก อาทิ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางทะเล และอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ ซึ่งขณะนี้มีความต้องการสูง แต่ขาดแรงงานฝีมือที่จะซ่อมเรือ ช่างทาสีเรือ และช่างฝีมือที่เกี่ยวกับเรือ ทำให้ต้องพึ่งบริษัทต่างชาติ ในอนาคตถ้าประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความพร้อม โอกาสที่จะมีอู่ต่อเรือ เพื่อรองรับโครงการแลนด์บริดจ์ รวมทั้งการท่องเที่ยวทางทะเลจะสดใสมากขึ้น

ปัจจุบันเอกชนมีความต้องการเรือยอร์ชหรือเรือลักษณะซุปเปอร์ยอร์ช ประมาณ 80-90% ขณะที่อู่ต่อเรือในไทยมีทั้งต่อเรือส่งทั้งในประเทศ และต่อเรือเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ กลายเป็นว่าตัวเลขนี้เหมือนต่อเรือไปก็ไม่เพียงพออยู่ดี เพราะเรื่องการผลิต การขนส่งค่อนข้างลำบาก การแข่งขันค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นตลาดจีน อินโดนีเซีย ที่มีอู่ต่อเรือนี้ด้วย
 

  • ยอดจองเรือพุ่ง 200%

    นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา กล่าวว่า สำหรับอู่ต่อเรือในประเทศไทยที่เป็นลักษณะเอสเอ็มอี หรือรูปแบบของสปีดโบ๊ท ที่ได้รับความนิยมคือรูปแบบสองเรือสองท้อง มีทั้งเรือไฟเบอร์และเรืออลูมิเนียม โดยอู่ต่อเรืออลูมิเนียมขณะนี้ช่างไม่มีเลย ขณะที่ความต้องการของตลาดต้องการเรืออลูมิเนียมค่อนข้างมาก ทำให้ราคาเรือสูงไปด้วยและอาจจะรอนานเพราะต้องใช้ฝีมือประนณีตค่อนข้างมากต่างจากเรือไฟเบอร์ที่ขั้นตอนไม่ซ้ำซ้อนมาก ดังนั้นความต้องการแรงงานอู่ต่อเรือประมาณการคร่าวๆอย่างน้อย 3,000 คนทั่วประเทศ เพราะอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ ในประเทศไทยมีหลายแห่ง อาทิ มาบตาพุด พัทยา กระบี่ และภูเก็ต

อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือบูม! ยอดจองพุ่ง 200% รับแลนด์บริดจ์-เที่ยวทางทะเล
    “ผมสั่งเรือสปีดโบ๊ท 4 เครื่องยนต์ รอมาเป็นปี ที่ต้องรอนานเพราะความต้องการของบริษัทต่างๆสูงมาก อีกทั้งธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลประเทศไทยค่อนข้างบูม เพราะทะเลไทยสวยงามมาก ทำให้เรือมีความจำเป็นในการท่องเที่ยวปัจจุบัน ประกอบกับรูปแบบเรือตอนนี้เปลี่ยนรูปแบบให้ใหญ่ขึ้น ให้ทันสมัยขึ้น เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายของเรือสปีดโบ๊ทยุคเก่าและยุคใหม่ ซึ่งมีความหรูหรา สะดวกสบายมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเรือมีความตื่นตัว และมียอดการจองสูงขึ้น 200 % ทุกบริษัทเกือบจะต้องจองเรือใหม่หมด เพราะความต้องการเรือรูปแบบใหม่ ที่ทันสมัยทำไห้ไม่ว่าจะเป็น อู่ต่อเรืออลูมิเนียม หรืออู่ต่อเรือไฟเบอร์ ต่อคิวรอเป็นปีๆ เลยทีเดียว”

  • เตรียมงบ 250 ล้านอัพสกิลแรงงาน

นายเลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า อู่ต่อเรือในประเทศไทยมีหลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นต่อเรือขนาด S ขนาด M และขนาด L แต่อู่ต่อเรือขนาด L กับขนาด XL ที่เป็นเรือไซซ์ใหญ่มีไม่มาก อู่ต่อเรือขนาดเล็กลงมา เช่นรูปแบบสปีคโบ๊ท มีประมาณ 20-30 แห่งทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่พอ เนื่องจากมีปัญหาจาก 3 ปัจจัยคือ

1.แรงงาน 2.การสนับสนุนจากภาครัฐให้เข้าถึงเรื่องเงิน หรือไฟแนนเชียล และ 3 เทคโนโลยี นวัตกรรมให้สามารถประกอบเรือให้เร็วขึ้น จากเดิมที่ยังเป็นการต่อเรือแบบสูตรใครสูตรมัน ไม่เหมือนต่างประเทศ ที่ใช้นวัตกรรมเขียนบล็อกและใช้เทคโนโลยีในการผลิตให้เร็วขึ้นทำให้คุณภาพดี

ในส่วนอู่ต่อเรือของประเทศไทยอาจต้องเพิ่มเรื่องนวัตกรรมที่ทำให้มีรูปแบบเรือทันสมัย ซึ่งขณะนี้อู่ต่อเรือระดับประเทศในไทยก็มี แต่ติด 1 ใน 5 อู่ที่ผลิตส่งไปต่างประเทศได้ตลอด ผู้ประกอบการจึงมีความต้องการพัฒนาทั้งแรงงาน ทั้งอัพสกิล และเรื่องของนวัตกรรม เพราะยังมีตลาดที่กว้างมาก

นอกจากนั้นอุตสาหกรรมต่อเรือ มีองค์ประกอบสามส่วนคือ “ต่อ-ซ่อม-ทำสี” ที่จะเป็นรูปแบบเดียวกัน ยกตัวอย่าง เรือต้องทาสีปีละครั้ง แต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท แต่ยังขาดแคลนแรงงานด้านนี้ จึงหวังว่ากระทรวงแรงงานจะสนับสนุนอุตสาหกรรมเรือ ทั้งต่อเรือ-ซ่อมเรือ-รับทำสี หรือเซอร์วิสเรือทั้ง 3 สกิล ที่จะเป็นความต้องการของตลาดในอนาคตสูงมาก

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เตรียมงบประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 แสนตำแหน่งทั่วประเทศ โดยเน้นเรื่องการการพัฒนาแรงงาน รูปแบบ “การรีสกิล อัพสกิล และนิวสกิล” เป็นต้น