เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม และคึกคักเป็นลำดับ สำหรับโครงการ " แลนด์บริดจ์ " หรือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หลัง"รัฐบาลเศรษฐา" มีมติครม. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ขับเคลื่อนอภิมหาโครงการฯ มูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท ขณะภาคเอกชนแสดงความสนใจร่วมประมูลโครงการ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 2568
ล่าสุด มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติกว่า100 ราย ร่วมประชุมทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สร้างความคึกคัก อย่างมากโดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่จากจีน และไต้หวันประกาศจุดยืน พร้อมเข้าร่วมประมูล อาทิ บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือรายใหญ่ ให้ความสนใจเข้าร่วมทั้งโครงการ เช่นเดียวกับเอกชนไทยบริษัท ดับบลิวเอซเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ให้ความสนใจจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประมูลงานในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของบริษัทด้วย
สอดรับกับคำยืนยันจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม แสดงความมั่นใจว่า "โครงการแลนด์บริดจ์เกิดแน่" หลังเดินทางไปโรดโชว์เพื่อชักชวนบริษัทชั้นในต่างประเทศมาลงทุน
จากความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นที่คาดหมายจากคนในพื้นที่ภาคใต้ หากวางแผนให้ดี และมีศักยภาพ จะก่อให้เกิดการจ้างงานของประชาชนในพื้นที่ภาคเอกชนในท้องถิ่นจะมีโอกาสทางเศรษฐกิจและเงินหมุนเวียนเพิ่ม และเป็นโอกาสของนักลงทุนต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในภาคใต้เพิ่มขึ้น
นายไพบูลย์ ลิ้มเลิศวาที อดีตประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ทางหอการค้าชุมพร พร้อมให้การสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์อยู่แล้ว ในส่วนชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยตอนแรก เพราะเอ็นจีโอในเขตป่าเกรงจะไม่ได้ค่าเวนคืน แต่รัฐบาลให้ค่าเวนคืนอยู่แล้วถ้ามีการเวนคืนจริงๆ โดยหลักการการเวนคืน ถ้าอยู่ในเขตป่า มีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเรียบร้อยแล้วก็ให้ค่าต้นไม้พืชผล ยกตัวอย่าง เช่น ทุเรียน อาจจะให้ค่าชดเชยต้นละ 5,000 บาท ปาล์มต้นละ 2,000 บาท ยางพาราต้นละ 500 บาท เป็นต้น
ส่วนที่ดินที่มีการจับจองไว้จะมีมูลค่าเท่ากับมูลค่าหนึ่งเท่าของราคาประเมิน หรือถ้าดีกว่าจะให้ 3-4 เท่า เป็นต้น ซึ่งมีกติกาอยู่แล้วแต่ชาวบ้านไม่รู้ ถ้าได้เงินค่าชดเชยก็ไม่มีปัญหา ตอนนี้รัฐบาลไม่กล้าบอกจะเวนคืนที่ดินหรือไม่ ถ้ารัฐบาลไปบอกให้ชัดเจนชาวบ้านก็ไม่คัดค้าน
"ผมเห็นด้วย กับโครงการแลนด์บริดจ์ ส่วนชาวบ้าน 80% ของคนทั้งจังหวัดก็เห็นด้วย แต่อาจจะมี20% ที่ถูกเอ็นจีโอโน้มน้าวคนที่อยู่ในเขตป่า นักการเมืองท้องถิ่นกลุ่มประชาสังคม ที่ไม่เห็นด้วย"
นายไพบูลย์ กล่าวว่า สิ่งที่คนในพื้นที่กังวลคือ รัฐบาลใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) จะมีคนมาประมูลหรือไม่ เรื่องประมูล จึงประเด็นสำคัญ มองว่ารัฐบาลไม่ทำการบ้านเต็มที่ ชักชวนต่างชาติมาลงทุน มาประมูล แต่ไม่อำนวยความสะดวก ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ ต้องเวนคืนเลยก่อนแล้วจึงทำ PPP ถ้าเป็นตามนี้คนก็มั่นใจรัฐบาลเอาจริงแน่ แต่รัฐบาลรอให้ประมูลก่อนแล้วค่อยเวนคืน เอกชนรายใหญ่ๆจึงไม่กล้า
การที่รัฐบาลเร่งออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) นั้น ทำถูกต้องแล้ว เพราะกฎหมายต้องออกก่อน เมื่อกฎหมายเสร็จแล้วให้รีบเวนคืนตามแผนที่รัฐบาลพูด ส่วนจะทำตามไทม์ไลน์หรือไม่ตนเองไม่แน่ใจ เพราะบางทีนักการเมืองบ้านเราดีแต่พูด พูดไปก่อนทำ ส่วนจะทำได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นเรื่องความเชื่อมั่นรัฐบาลสำคัญที่สุด
อดีตประธานหอการค้าชุมพร แสดงความเชื่อมั่นว่าโครงการแลนด์ น่าจะเกิด เพราะจะเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติมหาศาล โครงการนี้ถ้าเอาท่อนํ้ามันมาวางทั้งด้านซ้ายทั้งขวา ส่งให้ญี่ปุ่นกับจีนก็คุ้มแล้ว ที่ถูกโจมตีว่าไม่เพียงพอนั้นเป็นประเด็นรองมากกว่า ดังนั้นต้องค่อยๆสร้าง ต้องใช้เวลา จึงจะเกิดความคุ้มค่า ช่วง 10 ปีแรกอาจไม่คุ้มค่าสำหรับเรือที่อยู่ฝั่งระนองและชุมพร แต่ท่อนํ้ามันปีแรกก็คุ้มค่าแล้ว
แรกทีเดียวหอการค้าชุมพร จะเริ่มจุดก่อสร้างท่าเรือที่แหลมริ่ว ตนเองเสนอให้ใช้พื้นที่แหลมคอกวาง ทำเป็นเฟสแรกก่อน เนื่องจากแหลมคอกวางไม่ต้องทำผนังกั้นคลื่นเพราะเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ใช้งบไม่ถึงหมื่นล้านบาท ถ้าไปได้ดี จึงทำเฟส 2ให้ใหญ่ขึ้น แต่รัฐบาลไม่ฟัง ส่วนที่เลือกทำท่าเรือในพื้นที่แหลมริ่วก็ดีเช่นกัน เพียงแต่ใช้งบประมาณดำเนินการเยอะกว่า
ส่วนความเคลื่อนไหวในพื้นที่ มีนายหน้าที่ดินทั้งในพื้นที่ชุมพร และนายหน้าที่ดินจากส่วนกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มาซื้อเพื่อเก็งกำไร ขณะนี้ที่ดินราคาตลาดตรงหน้าท่า แหลมริ่วแพงสุด ประมาณไร่ละ 4 ล้าน จากเดิมไร่ละ 1 ล้านบาท แต่ก็ต้องวัดดวงจะเกิดหรือไม่เกิด ถ้าเกิดจะสร้างงานให้คนชุมพรเยอะมาก ประชากรจากภายนอกเข้ามาจะทำให้เมืองเจริญขึ้นมาก ทั้งภาคใต้และทั้งประเทศไทย
นายพรศักดิ์ แก้วถาวร ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง ให้ความเห็นสอดคล้องกับหอการค้าชุมพร โดยกล่าวว่า หอการค้าจังหวัดระนอง เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์มาตลอด แต่เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้หลักการ PPP ร่วมลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ตอนนี้ได้ข่าวว่าทางดูไบ และจีนจะเข้ามา ถ้ามาจริงและมาดูพื้นที่จริง ทางหอการค้าระนองจะขออนุญาตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภาครัฐ และทางจังหวัดระนอง ขอร่วมสังเกตการณ์ด้วย ล่าสุดนักลงทุนจีนจากเมืองเฉิงตู มาดูความเป็นไปได้ของโครงการ ถ้าโครงการเป็นไปได้เขาก็จะมาร่วม เป็นการหาข้อมูล สังเกตการณ์ความเป็นไปได้ของโครงการ ส่วนตัวหลักเป็นรัฐบาล
ส่วนราคาที่ดินระนองราคาสูงอยู่แล้ว เพราะที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์มีน้อย ทำให้ราคาที่ดินค่อนข้างสูง พอมีแนวโน้มโครงการและมีความเป็นไปได้ มีการจับจองที่ดินมากขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีโครงการนี้เกิดขึ้นเศรษฐกิจระนองก็จะซบเซาลงไปเรื่อย เพราะเรามีรายได้จากประมง ซึ่งประมงจะมีปัญหากฎระเบียบต่างๆที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมประมงของระนองค่อยข้างเงียบ การจ้างงานมีน้อย ลูกหลานคนระนอง เมื่อเรียนจบไม่มีงานให้ทำในระนอง ก็ไปทำงานที่ภูเก็ต และจังหวัดอื่นๆ ถ้ามีโครงการแลนด์บริดจ์ เกิดอุตสาหกรรมหลังท่าคาดว่าจะให้เศรษฐกิจของจังหวัดระนองดีขึ้น
ขณะที่ประชาชนในจังหวัดระนอง ซึ่งมีเกือบ 2 แสนคน ส่วนใหญ่เกินครึ่งเห็นด้วย แต่คนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีผลกระทบยังมีความกังวลบ้าง เช่น ประมงท้องถิ่นที่วิตกว่าการสร้างท่าเรือจะหาปลาได้น้อยลงไหม ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสำรวจรายได้ครัวเรือน ประมงพื้นบ้านมีรายได้จากประมงพื้นบ้านปีละเท่าไรต่อครัวเรือน เมื่อโครงการเกิดขึ้นทางโครงการต้องตั้งกองทุนเข้ามาดูแลคนประมงพื้นบ้าน ต้องชดเชยส่วนที่เขาสูญเสีย จึงจะทำให้ชาวบ้านสบายใจได้ ส่วนที่ประเมินว่าหลังโครงการแล้วเสร็จจะสร้างงานสร้างอาชีพขึ้นมา 2 แสนตำแหน่ง รัฐต้องชี้แจงให้ชัดเจน จะช่วยคลายความกังวลและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้
นายนิต อุ่ยเต็คเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจภายหลังรัฐบาลเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ และมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี ปรากฎว่ามีกลุ่มทุนมาซื้อที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีความพยายามในการทำเอกสารสิทธิ์บริเวณใกล้ป่าชายเลนแหล่งที่จะลงทุนสร้างท่าเรือนํ้าลึก มีทั้งนายทุนนอกพื้นที่และในพื้นที่ รวมทั้งผู้ว่าจ้างถมที่ดินก็มาในพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลโครงการฯล่าสุดทราบว่าได้มีการขอใช้พื้นที่ที่ทับซ้อนบริเวณป่าชายเลนที่ 6 จังหวัดระนองและพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง เพิ่มจาก 412 ไร่เป็น 2,000 กว่าไร่เพื่อรองรับโครงการแลนบริดจ์
ขณะที่ประชาชนในจังหวัดระนองยังเงียบ มีเพียงกลุ่มกระบวนการชุมชนจังหวัดระนอง ที่ออกมาพูดถึงโครงการฯว่าเขาไม่ขัดข้องเพียงแต่ให้ได้ค่าชดเชยอาชีพและสถานที่อาศัยใหม่ที่น่าพอใจเขาก็ไม่คัดค้านถ้าทุกอย่างลงตัว
แหล่งข่าวในพื้นที่จังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มทุนที่ดินจากส่วนกลาง และนายหน้าที่ดิน ลงสำรวจพื้นที่จังหวัดระนองอย่างคึกคัก ส่งผลให้ราคาที่ดินในจังหวัดระนองบริเวณรอบพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือรองรับโครงการแลน์บริดจ์ ขณะนี้ราคาสูงมาก โดยเฉพาะบริเวณอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จากเดิมราคาไร่ละไม่ถึงล้านบาท ขณะที่ราคาไร่ละ 10-20 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน 2 ฝั่งทะเลจังหวัดชุมพร และระนอง โดยจะพัฒนาพื้นที่บริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางนํ้าจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4001 วันที่ 16-19 มิถุนายน พ.ศ. 2567