เศรษฐกิจดีไม่ช่วยแก้เหลื่อมล้ำ เด็กไทยเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา 1.8 ล้านคน

22 มิ.ย. 2567 | 05:00 น.

กสศ. เปิดแนวโน้มความเหลื่อมล้ำการศึกษา ปี 2567 พบความจริงน่าตกใจ แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังกระจุกตัว หนี้ครัวเรือนพุ่ง เด็ก-เยาวชนครัวเรือนยากจน เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาสูงถึง 1.8 ล้านคน

KEY

POINTS

  • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดรายงานความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ชี้แม้เศรษฐกิจในปี 2567 ดีขึ้นแต่สวนทางความเหลื่อมล้ำ
  • รวยกระจุกจนกระจาย อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กไทย หลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนสูงถึง 1.8 ล้านคน จากนักเรียนทั้งหมด 8.9 ล้านคน
  • ปัญหาใหญ่อีกปม หารจัดสรรงบประมาณ-จำนวนครูไปบรรจุในแต่ละโรงเรียน ไม่สอดคล้องกัน เพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยรายงานแนวโน้มสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปี 2567 พบว่า แม้ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น ด้วยปัจจัยภายในประเทศ โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้า ส่งผลให้การจ้างงานของไทยโดยรวมดีกว่าปี 2566 

แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวยังคงกระจุกตัว สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กและเยาวชนในครัวเรือนยากจนหรือด้อยโอกาส ยังคงมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนสูงถึง 1.8 ล้านคน จากประชากรนักเรียนทั้งหมด 8.9 ล้านคน

ส่วนเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเชิงสังคมที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับระบบการศึกษาและหลักสูตรที่ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงานได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยกระดับการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่สามารถตอบโจทย์ผู้เรียน 

พร้อมทั้งการเสริมทักษะการเรียนรู้และการปรับตัวอย่าง รวดเร็ว การคิดเชิงสร้างสรรค์และเชิงนวัตกรรม รวมถึงการแนะแนวให้เด็กและเยาวชนค้นหาความสามารถและ ความสนใจของตัวเอง

งบพัฒนาการเรียนไม่สอดคล้อง

กสศ. ระบุด้วยว่า อีกประเด็นสำคัญในมิติโครงสร้างซึ่งส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ (demographic transition) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง 

ส่งผลให้จำนวนประชากรเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่ถึง 120 คน ทำให้แนวโน้มจำนวนเด็กต่อโรงเรียนลดลงจนถึงระดับ 40-60 คนต่อโรงเรียน 

ขณะที่การจัดสรรงบประมาณและจำนวนครูไปบรรจุในแต่ละโรงเรียน ยังคงอ้างอิงตามจำนวนนักเรียนรายบุคคลเป็นหลัก  ส่งผลกระทบให้โรงเรียนขนาดเล็กมีงบประมาณสำหรับใช้พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนสอนไม่เพียงพอ และอัตราการบรรจุครูในโรงเรียนลดลง ซึ่งจะยิ่งเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพการศึกษาระหว่างกลุ่มโรงเรียนด้วย

ครัวเรือนยังเปราะบางสูง

นอกจากนี้ ความเปราะบางของครัวเรือนมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง หรือขาดแคลนทุนทรัพย์ที่พบว่าครัวเรือนที่มีพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และครัวเรือนแหว่งกลางหรือข้ามรุ่น (เด็กอาศัยกับปู่ย่าตายาย) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลให้การเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะต้านทักษะทางอารมณ์ ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญภายในครอบครัวมีปัญหามากยิ่งขึ้น

ดังนั้น หากรัฐต้องการสนับสนุนการฟื้นตัวของประชากรกลุ่มเปราะบาง เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและคงอยู่ในระบบการศึกษาหรือโอกาสในการเรียนรู้ของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนให้ตรงจุด โดยเน้นความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในครัวเรือนยากจนพิเศษที่มีความเปราะบาง จากสภาวะอื่นควบคู่ด้วย

อย่างไรก็ตามจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสศ. ได้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์กับข้อมูลทะเบียนนักเรียนในระบบการศึกษา และพบว่า ยังมีกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 3-18 ปี ที่ควรอยู่ระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ 3) แต่ไม่ได้มีรายชื่อในระบบการศึกษารวมจำนวนมากถึง 1.02 ล้านคน

ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเห็นขนาดของปัญหาในแต่ละช่วงวัยทำให้เครือข่ายภาคีทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่มีข้อมูลและเครื่องมือในการติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชน สามารถทำงานเชิงรุกในการดูแลเด็กทั้งในและนอกระบบการศึกษาที่ไม่ใช่เพียงพากลับเข้าระบบการศึกษา 

แต่ทุกฝ่ายจะช่วยกันเสริมสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคนพบเส้นทางที่เหมาะสม ได้รับการศึกษาเรียนรู้เต็มศักยภาพ เพื่อให้ประชากรของประเทศไทยมีคุณภาพ สามารถพัฒนาตนเอง สร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ทั้งของตนเองและสังคม