หลังจากร่างพระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก (อาหารที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง) ฉบับแก้ไขหลังประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุด คณะทำงานเพื่อการพัฒนาและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับเด็ก และคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับเด็ก ได้วิเคราะห์ว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีผลกระทบต่อเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง โดยตรง จึงได้จัดให้มีงานประชุมเด็กไทย กินอย่างไร สุขภาพดี รู้เท่าทันการตลาดอาหารหวานมันเค็ม
ดร.นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แม้ประเทศไทยมีมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในเด็ก แต่สิ่งสำคัญ คือ การสร้างให้เด็กไทยมีความรู้เท่าทันการตลาดอาหาร แต่ยังพบปัญหาโรคอ้วนในเด็กที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
การเกิดโรคอ้วนสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการกินอาหารรสหวานมันเค็ม เช่น ขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม รวมทั้งการตลาดที่ไปกระตุ้นให้เด็กซื้อและบริโภคอาหารเหล่านั้นเพิ่มขึ้น เช่น การโฆษณา ฉลากรูปการ์ตูน การแลก แจก แถมของเล่น การชิงโชคชิงรางวัล
ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก โดยขณะนี้ผ่านขั้นตอนประชาพิจารณ์กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและปรับแก้ไขเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหารเพื่อเสนอเข้ากระบวนการทางกฎหมาย สำหรับการพัฒนาร่างอนุบัญญัติภายใต้ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังคงต้องหารือจากภาคส่วนต่างๆต่อไป
นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม กล่าวว่า สภาพวิถีชีวิตในปัจจุบันหลายครอบครัวไม่มีเวลาในการคัดเลือกสรรหาอาหารให้เด็กมากพอ ด้วยความเร่งรีบจึงคิดแค่อิ่มท้องก็พอ ไม่ต้องมีคุณค่ามากนัก ฉะนั้นจะต้องมาแก้ปัญหาให้ผู้ปกครองเข้าถึงและเลือกอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของลูกได้โดยง่าย ราคาไม่แพงมากนัก ผู้ปกครองเองก็ต้องเป็นตัวอย่างของการบริโภคภายในบ้าน ฝึกวินัยการกินอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพต่อลูกหลานของตัวเอง เลือกอาหารที่มีโภชนาการเหมาะสม เพียงพอ ปลอดภัย
ดร.นงนุช จินดารัตนาภรณ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงงานวิจัยการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มในเด็กของประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ว่า การตลาดอาหารมีผลต่อการซื้อการบริโภคอาหารของเด็กไทย พบว่า กว่า 50% ของเด็กไทยพบเห็นการตลาดจากรูปการ์ตูนหรือคนดังบนซองอาหารหรือขนมหรือขวดเครื่องดื่ม รองลงมาคือ ใช้พรีเซ็นเตอร์ เป็นดารานักแสดง นักร้อง นักกีฬา หรืออินฟลูเอนเซอร์โปรโมทอาหาร ส่วนอันดับสามคือ ป้ายลดราคาอาหาร และ การมีของแจกของแถม แลก ชิงโชค ชิงรางวัล ส่งสินค้าฟรี
สำหรับช่องทางที่เด็กไทยพบเห็นการตลาดอาหารมากที่สุด คือ สื่อโซเชียลและวีดีโอแชร์ เช่น YouTube ,Facebook ,Instagram ,TikTok ,Twitter (หรือ X) รองลงมาคือ สื่อโทรทัศน์ อันดับที่สามคือ สื่อกลางแจ้ง เช่น โรงเรียน ป้ายโฆษณา ร้านสะดวกซื้อ
ด้านผลกระทบการตลาดอาหารที่มีต่อเด็กไทย พบว่า การตลาดอาหารทำให้เกิดความชื่นชอบต่อผลิตภัณฑ์อาหาร และส่งผลให้เด็กต้องการบริโภคมากขึ้น 45% เกิดการร้องขอให้ซื้อมากขึ้น 39% และต้องการรับประทานอาหารนั้นเพิ่มขึ้น 38% โดยเด็กไทยมีโอกาสที่จะซื้อและบริโภคตามแบรนด์ที่ชื่นชอบ 54% และ 51%
นางสาววิลสา พงศธร ที่ปรึกษาด้านการศึกษา ขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF) สำนักงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวถึงเด็กวัย 11-25 ปี หรือ GEN-Z มีการใช้โซเชียลหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งเสี่ยงต่อกลยุทธ์ต่างๆในยุค AI มีการตรวจจับ หากมีการกดติดตาม หรือกดไลท์ สินค้าหรืออินฟลูเรนเซอร์ขนมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ด้วยความฉลาดของ AI สินค้านั้นๆ ก็จะมาให้เห็นซ้ำเรื่อยๆ
"อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก มาตรา 16 ว่าด้วยเด็กควรได้รับความเป็นส่วนตัว หรือ มาตรา 36 เด็กควรได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์ทุกรูปแบบ และมาตรา 17 ว่าด้วยรัฐควรจะต้องปกป้องเด็กจากข้อมูลข่าวสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็ก ฉะนั้นหากมี พ.ร.บ. ที่ควบคุมการตลาดอาหารที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในทุกช่องทางจะทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเด็กในหลายมิติ"