ชง ครม. เติมสภาพคล่อง “โรงรับจำนำ” ต่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี 500 ล้าน

24 มิ.ย. 2567 | 08:08 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2567 | 08:15 น.

กระทรวง พม. เตรียมเสนอ ครม. 25 มิถุนายน 2567 นี้ เติมสภาพคล่อง “โรงรับจำนำ” ขอต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสิน วงเงิน 500 ล้านบาท ออกไปอีกครั้ง หลังสิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2567

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 มิถุนายน 2567 นี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. ขอต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จากธนาคารออมสิน วงเงิน 500 ล้านบาท ของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือ "โรงรับจำนำของรัฐ" ออกไปอีกครั้ง 

หลังจากอายุสัญญาที่เคยขอขยายไปก่อนหน้านี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อเป็นเงินทุนสำรองสำหรับหมุนเวียนรับจำนำและสำหรับใช้จ่ายในการบริหารเงินให้เกิดสภาพคล่องในกิจการ

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีมติเห็นชอบการต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสิน วงเงิน 500 ล้านบาท โรงรับจำนำของรัฐ ไปแล้ว โดยต่ออายุออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2567 นี้

สำหรับเหตุผลของ การขอต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี วงเงิน 500 ล้านบาท ของสำนักงานธนานุเคราะห์ หรือ โรงรับจำนำของรัฐ นั้น ในการขยายระยะเวลาครั้งก่อน กระทรวง พม.ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นเงินทุนสำรองหมุนเวียนรับจำนำและสำหรับใช้จ่ายในการบริหาร เพื่อให้มีสภาพคล่องในกิจการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 

โดยการกู้เงินประเภท เบิกเงินเกินบัญชีนั้น หาก สธค. ไม่ได้เบิกมาจะไม่เสียดอกเบี้ยจ่าย ซึ่ง สธค. มีความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถนำส่งเงินรายได้แผ่นดิน ตามที่กระทรวงการคลัง กำหนด จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารทางการเงินการคลังของรัฐบาลในภาพรวม

สำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือ โรงรับจำนำของรัฐ เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี สังกัดกรม พัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง โดยธุรกิจหลักของสำนักงานธนานุเคราะห์ คือ การ ดำเนินงานโรงรับจำนำของรัฐภายใต้ชื่อ สถานธนานุเคราะห

ปัจจุบัน สถานธนานุเคราะห์ เปิดให้บริการจำนวน 45 สาขา ดังนี้

  • ตั้งอยู่ในเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 29 สาขา
  • ปริมณฑล จำนวน 5 สาขา ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี 2 สาขา จังหวัดปทุมธานี 2 สาขา และจังหวัดสมุทรปราการ
  • ส่วนภูมิภาค 11 สาขา ได้แก่ จังหวัดชลบุรี 1 สาขา จังหวัดระยอง 2 สาขา จังหวัดลำพูน 1 สาขา จังหวัด สุราษฎร์ธานี 1 สาขา จังหวัดอุดรธานี จำนวน 1 สาขา จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1 สาขา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 1 สาขา จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1 สาขาจังหวัดราชบุรี จำนวน 1 สาขา และจังหวัดลพบุรี จำนวน 1 สาขา

ส่วนผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือ โรงรับจำนำของรัฐ ในปี 2566 มีรายละเอียดดังนี้

  • สินทรัพย์รวม 6,689.76 ล้านบาท 
  • มีหนี้สิน 1,958.55 ล้านบาท 
  • ส่วนของทุน 4,731.21 ล้านบาท
  • รายได้รวม 885.62 ล้านบาท มาจากรายได้จากการขายและบริการ 878.69 ล้านบาท และรายได้อื่น 6.93 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายรวม 419.95 ล้านบาท  มาจากต้นทุนขายและการให้บริการ 235.19 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 154.86 ล้านบาท และ ต้นทุนทางการเงิน 29.90 ล้านบาท
  • ผลการดำเนินงาน มีกำไร  465.67 ล้านบาท