นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ยืนยันว่านโยบายนี้จะแล้วเสร็จ รถไฟฟ้าทุกสีทุกสายจะมีค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายตามเป้าหมายในเดือน ก.ย.2568
ทั้งนี้ในปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนคู่สัญญา และผลักดันพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … เพื่อให้มีผลในการปรับโครงสร้างและบูรณาการรถไฟฟ้าทุกโครงการ
"การปรับลดราคาค่าโดยสารนั้น รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อสัญญาสัมปทาน เพราะรัฐบาลจะจัดหาวงเงินชดเชยรายได้ที่หายไป"
ขณะเดียวกันในปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางจัดหาเงินชดเชย คาดว่าจะจัดตั้งเป็นกองทุนตั๋วร่วมที่นำเงินมาจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
ส่วนผลการศึกษาเบื้องต้น คาดว่าจะจัดใช้วงเงินชดเชยประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี โดยหากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ปริมาณจ่ายเงินชดเชยก็จะลดลงอย่างต่อเนื่อง
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2568
จากข้อมูลการศึกษาล่าสุด มั่นใจว่าในช่วงกลางปี 2568 จะสามารถนำรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว 3 สายในปัจจุบัน เข้าร่วมนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง
เนื่องจากทั้ง 3 โครงการดังกล่าว อยู่ภายใต้การดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถเจรจากับเอกชนคู่สัญญาและปรับลดราคาค่าโดยสารได้ ซึ่งทางภาครัฐจะจัดหาเงินชดเชยรายได้ที่หายไป โดยไม่ให้กระทบต่อสัญญาสัมปทาน
“ขณะนี้รถไฟฟ้าที่พร้อมจะปรับราคาตามนโยบาย 20 บาทตลอดสาย จะเป็นรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การกำกับของ รฟม. ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นที่มีสัญญาสัมปทาน เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็คงต้องรอให้ พรบ.ตั๋วร่วมมีผลบังคับใช้ จะมีผลในการปรับโครงสร้างราคาค่าโดยสาร ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลภายในปี 2568“
สำหรับปัจจุบันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เริ่มใช้ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยจากข้อมูลตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2567 หรือประมาณ 7 เดือนครึ่ง พบว่า ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรวม 2 สาย 20.86 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.94%
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 (16 ต.ค.2565-31 พ.ค.2566) ซึ่งผู้โดยสารอยู่ที่ 17.68 ล้านคน โดยสายสีแดง ผู้โดยสาร 6.21 ล้านคน เพิ่มขึ้น 27.61%
นอกจากนี้สายสีม่วง ผู้โดยสาร 14.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.53% ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการ ส่งผลให้การสูญเสียรายได้ของทั้ง 2 สายลดลงจากที่คาดการณ์ว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี