เตือนรัฐบาลหนี้สาธารณะพุ่ง ผลพวงขาดดุลงบ ดัน "เงินดิจิทัลวอลเล็ต"

02 ก.ค. 2567 | 23:34 น.

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เตือนรัฐบาลระวังหนี้สาธารณะพุ่ง หลัง ครม.สัญจร เคาะแผนการบริหารหนี้ ประจำปี 2567 พบแนวโน้มขาดดุลงบประมาณสูง จากการตั้งงบทำ "เงินดิจิทัลวอลเล็ต"

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุม ครม.สัญจร จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 โดยมีการปรับแผนก่อหนี้ใหม่ แผนการบริหารหนี้เดิม และแผนการชำระหนี้เพิ่มขึ้นนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ขีดความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระในการชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต 

อีกทั้งยังมีปัจจัยสำคัญที่อาจเป็นตัวเร่งให้จำนวนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ การจัดทำวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งได้บรรจุรายการวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลสัดส่วนต่อ GDP จำนวน 1.12 แสนล้านบาทไว้ด้วย และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ซึ่งมีการกำหนดวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงถึง จำนวน 865,700 ล้านบาท

ดังนั้นเพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรให้คณะกรรมการฯ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1.จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญและเพื่อป้องกันการเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต โดยให้คำนึงถึงการปฏิบัติตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย

2.พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบสมดุลให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลาง ซึ่งจะช่วยลดการจัดสรรเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในภาพรวม รวมทั้งให้ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่เห็นว่า สำนักงบประมาณ ควรพิจารณาจัดสรรงบชำระหนี้ต้นเงินกู้ของหนี้รัฐบาลและหนี้รัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีงบประมาณนั้น โดยควรจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้ต้นเงินกู้เฉพาะในส่วนหนี้รัฐบาลไม่ต่ำกว่า 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

นอกจากนี้ ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการจัดสรรเงินกู้ให้แก่หน่วยงานของรัฐในระยะต่อไป เห็นควรให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอนุมัติเฉพาะโครงการลงทุนที่จำเป็นและมีศักยภาพ สามารถก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตเป็นหลัก รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานเจ้าของโครงการลงทุนต่าง ๆ พิจารณาใช้แหล่งเงินอื่นนอกเหนือจากแหล่งเงินกู้ในการดำเนินโครงการในอนาคต เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เป็นต้น

3.จัดลำดับความสำคัญและพิจารณาความเหมาะสมในการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น พิจารณาความเป็นไปได้ในการชำระหนี้ที่เป็นค่าเงินสกุลเยนให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินเยนอ่อนลงอย่างมาก ทำให้ต้นทุนในชำระหนี้ลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต เป็นต้น

ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ภายหลังการจัดทำแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ปรับปรุงครั้งที่ 2 ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่กายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ดังนี้

  • สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 65.06% ต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70%
  • สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ อยู่ที่ 32.14% ต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 35%
  • สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด อยู่ที่ 1.45% ต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10%
  • สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออก

สินค้าและบริการ อยู่ที่ 0.04% ต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5%