“ไทยสมายล์บัส” เจาะไต้หวันโมเดล ปลุก 3 โปรเจ็กต์ธุรกิจรถเมล์ไฟฟ้า

05 ก.ค. 2567 | 01:00 น.

“ไทยสมายล์บัส” ผ่า 3 โปรเจ็กต์ธุรกิจรถเมล์ไฟฟ้า รับไต้หวันโมเดลต้นแบบบัตรใบเดียว เตรียมจับมือพาร์เนอร์ 300 ราย ดันบัตร HOP Card จ่ายค่าโดยสาร-ซื้อสินค้า หนุนผู้ลงทะเบียนพุ่ง 4 แสนราย ภายในสิ้นปี 67

KEY

POINTS

  • “ไทยสมายล์บัส” ผ่า 3 โปรเจ็กต์ธุรกิจรถเมล์ไฟฟ้า รับไต้หวันโมเดลต้นแบบบัตรใบเดียว
  • เตรียมจับมือพาร์เนอร์ 300 ราย ดันบัตร HOP Card จ่ายค่าโดยสาร-ซื้อสินค้า
  • หนุนผู้ลงทะเบียนพุ่ง 4 แสนราย ภายในสิ้นปี 67   

บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด หรือ TSB ผู้นำในธุรกิจรถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า ได้มีแนวคิดศึกษาไต้หวันโมเดล เพื่อนำมาปรับใช้กับบัตรโดยสาร HOP Card ที่เชื่อมต่อการเดินทางและขยายระบบการชำระเงินในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ปัจจุบันพบว่าในประเทศไต้หวันมีการใช้บัตร Easy Card อย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินโดยจุดเด่นอยู่ที่การจ่ายค่าโดยสารได้เกือบทุกประเภท อีกทั้งยังสามารถชำระค่าสินค้าและบริการแทนเงินสดได้ ซึ่งสถานที่ให้บริการตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟและร้านสะดวกซื้อทุกแห่งในประเทศ

 

ส่วนบัตร I-Pass เป็นบัตรที่มีลายสะสมให้เลือกในรูปแบบบัตรเติมเงินหรือพวงกุญแจ ซึ่งมีการใช้งานใกล้เคียงคล้ายกับบัตร Easy Card ที่ครอบคลุมการชำระแทนเงินสด สามารถจ่ายค่าโดยสารสาธารณะหรือการซื้อสินค้าทุกประเภท ตลอดจนการชำระเงินในสวนสนุก,พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ   

ปลุกไต้หวันโมเดล  


นางสาวกุลพรภัสร์  วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด หรือ TSB เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยยังติดปัญหาไม่สามารถเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายได้อย่างแท้จริง

 

แม้ปัจจุบันบริษัทมีการนำร่องเชื่อมต่อรถเมล์ไฟฟ้ากับเรือโดยสารไฟฟ้าในเครือเรียบร้อยแล้ว ซึ่งพร้อมหารือกับผู้ประกอบการขนส่งทุกราย แต่ยังมีข้อจำกัดที่ต้องอาศัยอำนาจของภาครัฐเข้ามาเป็นคนกลางในการดำเนินการประสานความร่วมมือกันทุกฝ่าย 

 

“ไทยสามารถนำโมเดลของไต้หวันมาพัฒนาต่อได้อีก นั่นคือการเชื่อมต่อโครงข่าย Single Network เหมือนกับระบบบัตรโดยสาร Easy Card, บัตร i-Pass ที่สามารถเชื่อมโยงระบบการใช้บริการได้ครบถ้วน รถ-เรือ-ราง ตลอดจนบริการเช่าจักรยาน T-Bike และ You Bike” 
 

ดันบัตรโดยสาร HOP Card


นายวรวิทย์  ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB ให้สัมภาษณ์ว่า จากการศึกษาดูงานใประเทศไต้หวันในครั้งนี้

 

พบว่าบริษัทได้เห็นถึงการใช้ระบบบัตรโดยสารของประเทศไต้หวันที่มีความคล้ายกับบัตรตั๋วร่วมในไทย ซึ่งในความจริงควรมีการใช้บัตรใบเดียวที่สามารถใช้งานได้ครบถ้วน ตลอดจนการนำไปซื้อสินค้าต่างๆ  

 

ในอนาคตจะมีการต่อยอดบัตรโดยสาร HOP Card ให้สามารถใช้ชำระค่าสินค้า-บริการ ให้ได้เหมือนกับ Easy Card ของไต้หวัน ที่ใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ใช้จ่ายค่าบริการร้านอาหาร สวนสนุก โรงแรม ขึ้นกระเช้าท่องเที่ยว พร้อมทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการ

 

“บริษัทมีแผนดำเนินการใช้บัตรได้ใบเดียวที่คล้ายกับประเทศไต้หวันเช่นกัน โดยเป็นการหาพันธมิตรร่วมทุน (พาร์ทเนอร์) เพื่อเข้าถึงเส้นทางในพื้นที่ Local ใน 123 เส้นทางที่ได้รับสัมปทาน ปัจจุบันบริษัทได้มีการลงพื้นที่เพื่อหาร้านค้าในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการรู้จักและเข้าถึงการให้บริการของรถเมล์ไฟฟ้าของบริษัทมากขึ้น โดยเข้ามาเป็น 1 ในพาร์ทเนอร์ของบริษัท” 
 

จับมือ 300 พาร์ทเนอร์ 


นายวรวิทย์  ให้สัมภาษณ์อีกว่า เบื้องต้นบริษัทจะมีการใช้งบลงทุนประมาณ 150,000-200,000 บาท โดยเป็นการติดตั้งจุดจำหน่ายและเครื่องแตะบัตรโดยสาร HOP Card จำนวน 300 เครื่อง ที่ร้านค้าพาร์ทเนอร์ ทำให้บัตรโดยสารดังกล่าวสามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถสาธารณะและชำระสินค้าต่างๆได้มากขึ้น

 

ถือเป็นช่องทางที่ช่วยยกระดับภาคระบบขนส่งสาธารณะและร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่อยู่ในเส้นทางนั้นๆให้มีรายได้มากขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 เดือน 

“ไทยสมายล์บัส” เจาะไต้หวันโมเดล ปลุก 3 โปรเจ็กต์ธุรกิจรถเมล์ไฟฟ้า

ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการจับมือร่วมกับบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเริ่มเปิดทดลองผ่านการใช้สมาร์ทโฟนและติดตั้งเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารดังกล่าวที่โรงแรมอวานีภายในสัปดาห์นี้

 

โดยผู้ใช้บริการที่บัตรโดยสาร HOP Card จะได้รับส่วนลดร้านอาหารในเครือของกลุ่มไมเนอร์ ทั้งนี้ตั้งเป้ามีพาร์ทเนอร์ ทั้งหมด 300 ราย คิดเป็น จำนวน 2-3 รายต่อ 1 เส้นทาง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ 

 

เปิดตัวบัตรโดยสาร Limited Edition 


นายวรวิทย์  ระบุต่อว่า บริษัทจะมีการออกบัตรโดยสาร HOP Card ลายลิมิเต็ดประมาณ 3-4 ลาย ซึ่งจะร่วมกับศิลปินไทยในการออกแบบ โดยตั้งเป้าดำเนินการภายในไตรมาส 3 ปี 67 รวมทั้งบริษัทมีแผนจะหารือร่วมกับบมจ.ซีพี ในการเพิ่มช่องทางจำหน่ายบัตรโดยสารฯ คาดว่าจะเริ่มได้ภายในปี 67 

 

ปัจจุบันบริษัทมีช่องทางจำหน่ายบัตรโดยสารผ่านแอปพลิเคชั่น Shopee ,Lazada,อู่รถเมล์ 27 เส้นทาง,ท่าเรือ 20 แห่งของไทยสมายล์โบ๊ท

 

ขณะนี้บัตรโดยสาร HOP Card มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 50,000 ราย จากผู้ซื้อบัตรที่มีอยู่ 130,000 ราย หากมีกลุ่มพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมให้บริการเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียน 300,000-400,000 ราย ภายในสิ้นปี 67   

 

ผุดแอป TSB Go Plus


นอกจากการศึกษาโมเดลระบบการชำระเงินของไต้หวันแล้ว ล่าสุดบริษัทได้พัฒนาแอปพลิเคชัน TSB Go Plus เพิ่มฟังก์ชันให้หลากหลาย อาทิ ตรวจสอบเวลาเดินรถ เมื่อกำลังเข้าป้าย คำนวณระยะเวลาเดินทาง

 

โดยผู้ลงทะเบียนบัตร HOP Card สามารถเช็กประวัติการเดินทางย้อนหลังได้ ตลอดจนการประเมินความพึงพอใจหรือร้องเรียนติชมพนักงานผู้ให้บริการ แล้วส่งข้อมูลตรงถึงฝ่ายปฏิบัติการได้ทันที ทำให้ปัญหาของผู้โดยสารจะได้รับการตรวจสอบแก้ไขได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น