ส.อ.ท. ประกาศจุดยืน ขึ้นค่าแรง 400 บาท ต้องยึดกฎหมาย-ฟังความเห็นรอบด้าน

03 ก.ค. 2567 | 05:43 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2567 | 05:58 น.

เปิดจุดยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ต้องยึดมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และฟังความเห็นรอบด้าน พร้อมมุ่งส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วยการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มรายได้แทนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จุดยืนของ ส.อ.ท. ต่อนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ประกอบด้วย

  • การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ใน มาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน 
  • ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ด้วยการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน แทนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ
     
  • ผลักดันให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้มีความเหมาะสม

เปิดจุดยืน "ส.อ.ท." ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บ.ต้องยึดกฎหมาย ม.87-พ.ร.บ.แรงงาน

ทั้งนี้ สำหรับ New Model การยกระดับฝีมือแรงงานรองรับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 129 สาขา ด้วย Competency Based Pay รองรับนโยบายการปรับค่าแรง

โดยมีเป้าหมายยกระดับฝีมือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 500,000 คน ภายในระยะเวลา 4 ปี ภายใต้ความร่วมมือ ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ,สถาบันการค้าและอุตสาหกรรม ,สภาองค์การนายจ้างและลูกจ้าง และหน่วยงานภาคการศึกษา
 

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบนโยบายค่าแรง และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ประเทศมีผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น 

ส่วนกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรม ,บริการ และเกษตร เพื่อทำให้มีทักษะฝีมือ มีอาชีพมีรายได้ เพิ่มผลิตภาพ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ