เศรษฐกิจไทยเวลานี้เรียกว่าอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว หรือยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน
ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าจะลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 3% เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อประคองการจ้างงาน
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "แสงชัย ธีรกุลวาณิช" ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยในเวลานี้
แสงชัย ระบุว่า การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 3% เป็นระยะเวลา 3 เดือนดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะช่วยลดภาระผู้ประกอบการระยะสั้น และเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นสถานการณ์เศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบัน การผลักดันนโยบายเพื่อหาทางออกและทางรอดของเอสเอ็มอี (SMEs)และแรงงานที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยกับความเสี่ยงของเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายย่อย วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรที่ฝ่าสารพัดมรสุมกับดักความเหลื่อมล้ำที่ไม่ใช่ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ
แต่เป็นต้นตอปัญหาที่มาจากแนวคิดการออกแบบกลไกการนโยบายที่ไม่กระจายอำนาจ กระจายโอกาส กระจายรายได้ เน้นผลงานเฉพาะหน้าที่เอื้อกับพวกพ้องกลุ่มทุนใหญ่ เอาใจทุนนอกจนหลงลืมทุนใน ท่ามกลางทุนเสรีนิยมที่ขาดมาตรการรองรับและเชิงรุกในการยกระดับกำลังคนของประเทศทุกช่วงวัย ที่หากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์เชื่อมโยง บูรณาการภารกิจหน้าที่ร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมเพื่อรองรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และเกี่ยวข้องกับ 4 หมุดหมายที่สำคัญ คือ หมุดหมายที่ 7 เอสเอ็มอีที่เข้มแข็ง มีศักยภาพ แข่งขันได้
หมุดหมายที่ 9 ความยากจนข้ามรุ่นและความคุ้มครองทางสังคม และหมุดหมายที่ 12 กำลังคนที่มีสมรรถนะสูง รวมทั้งหมุดหมายที่ 13 การมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชนซึ่งเราจะสามารถพลิกโฉมประเทศ ให้โอกาสเติมเต็มช่องว่างความเสมอภาคเศรษฐกิจและสังคมที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนให้กับประชาชนและประเทศไทยในอนาคต
แสงชัย บอกอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงเผชิญวิกฤตแรงงานและเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย
“เปราะบางเหลื่อมล้ำ บอบช้ำจากโควิด โดนพิษเศรษฐกิจรุมเร้า ติดกับดักหนี้ยั่งยืน ขยี้ซ้ำรายได้ลด ซดต้นทุนเพิ่มรอบทิศ”