ประเด็นของ "กัญชา" ร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษมีมติเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. … ที่กำหนดให้กัญชาและกัญชงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เพื่อเป็นข้อเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก่อนจัดทำกฎหมายลูกอนุญาตปลูกและใช้ทันประกาศ 1 ม.ค.68
เกิดแรงกระเพื่อมให้กลุ่มเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย นัดชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อคัดค้านการนำกัญชา กัญชงกลับคืนสู่บัญชีรายชื่อยาเสพติดประเภทที่ 5 ดังกล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง :
ล่าสุดมีรายงานว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับกรณีมติบอร์ดควบคุมยาเสพติดที่เห็นชอบร่างประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ "ช่อกัญชาและดอกกัญชา" ที่มีสารทีเอชซี เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์เป็น "ยาเสพติดให้โทษ"
ขณะที่เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลพร้อมยืนยันว่า จะปักหลักค้างคืนหน้าทำเนียบรัฐบาลจนกว่าจะได้คำตอบว่า ในวันนี้ 9 กรกฎาคม 2567 ตนพร้อมที่จะตอบข้อซักถามทุกประเด็นเรื่องกัญชาที่ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่สาเหตุที่ต้องดึง กัญชา กลับมาเป็น ยาเสพติด ปัญหาอุปสรรค และอนาคตว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมทั้งข้อกฎหมายและการดูแลกลุ่มต่าง ๆ ที่ลงทุนเกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด
อย่างไรก็ดี นายสมศักดิ์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางเครือข่ายฯเคยเรียกร้องมานั้นไม่ได้ทำให้ เนื่องจากต้องทำ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ออกมาให้เห็นก่อน
ส่วนกรณีที่เรียกร้องให้ ตั้งคณะกรรมการรับฟังข้อมูลร่วมกันนั้น คิดว่า จะมีการพิจารณาและได้ข้อสรุปในวันนี้ (9 ก.ค.) นายสมศักดิ์ กล่าวพร้อมระบุว่า ไม่ได้มีการปรับแก้อะไรเกินกว่าที่ได้เคยคุยกันไว้ซึ่งจะมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจน แม้จะมีประกาศกระทรวงฯออกมาก็ยังมีประกาศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันอีกโดยคาดว่า จะมีอีกประมาณ 3 ฉบับด้วยกัน
ทั้งนี้ สำหรับข้อเรียกร้องของ เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ทั้งสองครั้ง โดยครั้งแรกยื่นหนังสือถึงนายกฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 เรียกร้องให้การควบคุมกัญชานั้นต้องมีกฎหมายเฉพาะหรือถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติกัญชา และเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐเพื่อสํารวจวิจัยข้อมูลในมิติต่าง ๆ เกี่ยวกับกัญชารอบด้าน โดยเน้นย้ำว่า รัฐบาลต้องเลิกตั้งธงว่า กัญชาต้องควบคุมโดยกฎหมายยาเสพติด
เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องที่ยื่นถึงนายกฯ ครั้งล่าสุด คือ วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ที่ยังคงเน้นย้ำให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมฯเพื่อกำหนดกระบวนการศึกษาวิจัยใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.กัญชามีผลร้ายในมิติสุขภาพมากกว่าบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ สิ่งไหนอันตรายต่อสุขภาพมากกว่ากัน 2.กัญชาก่อผลร้ายในมิติทางสังคมอย่างไร ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงกัญชา ร้ายแรงกว่าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์หรือไม่ อยากให้มีงานวิจัย
3.คุณสมบัติในการรักษาโรคด้วยกัญชา ให้พิสูจน์ว่ากัญชาสามารถดูแลสุขภาพ รักษาโรคได้ ดีกว่าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์หรือไม่ และ 4.กัญชาก่อให้เกิดโรคทางจิตเวช และทำลายสมองเยาวชนตามที่รัฐกล่าวอ้างจริงหรือไม่ โดยขอให้มีการพิสูจน์ว่า กัญชาทำให้สมองเสื่อม ทำให้สมองเยาวชนมีปัญหา และก่อให้เกิดปัญหาด้านจิตเวชตามที่กล่าวอ้าง จริงหรือไม่
"หากการศึกษาทั้ง 4 มิติ ปรากฎว่า กัญชาไม่ได้ร้ายแรงกว่าบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมถึงไม่ได่เป็นสาเหตุของโรคจิตเวชหรือทำลายสมองเด็ก เรียกร้องให้ควบคุมโดยใช้ พ.ร.บ.กัญชา แต่ถ้าพบว่า ร้ายแรงกว่าก็ให้นำไปควบคุมโดยกฎหมายยาเสพติดตามเดิม ทั้งนี้ ยืนยันว่า จะปักหลักชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้คำตอบจากรัฐบาล" นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าว