สืบเนื่องจากกรณีกระทรวงแรงงานได้ข้อสรุปมาตรการประคองการจ้างงานให้กับผู้ประกอบการ โดยจะ “ลดเงินสมทบ” ส่งเข้า "กองทุนประกันสังคม" เหลือ 3 % จากเดิม 5 % ทั้งในส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง โดยเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเร็ว ๆ นี้
ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ "ว่าที่ สว.ชุดใหม่" สายแรงงาน ภายหลัง “กกต.รับรอง” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีดังกล่าว ว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ "เงินสมบท" ส่งเข้า "กองทุนประกันสังคม" เป็นผลประโยชน์ของลูกจ้างโดยตรง การลดในส่วนนี้จะช่วยนายจ้างหรือรัฐบาลท แต่มีผลทำให้ "กองทุนประกันสังคม" ที่มีไว้สำหรับช่วยเหลือลูกจ้างน้อยลง จึงคิดว่าไม่เป็นธรรม เพราะจะทำให้ลูกจ้างสูญเสียประโยชน์ที่จะได้รับจากนายจ้างหรือรัฐบาล และจะทำให้กองทุนประกันสังคมไม่โตตามที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าในกรณีรองรับการจ่ายเงินให้กับลูกจ้างในอนาคต
“รัฐบาลต้องอธิบายให้เข้าใจว่า ในส่วนที่จะค้ำประกันความมั่นคงของลูกจ้างส่วนที่หายไปในส่วนของนายจ้างหรือรัฐบาลที่ลดลงไปจะชดเชยกันอย่างไร”ศาสตราภิชาน แล กล่าว
ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า ส่วนวิธีที่จะช่วยประคองการจ้างงานไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างพนักงานได้คือการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ เช่น การลดภาษี การลดค่าไฟฟ้า
ศาสตราภิชาน แล กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาไม่ให้กองทุนประกันสังคมล้มในอีก 20 ปีข้างหน้าตามที่นักเศรษฐศาสตร์ประกันภัยคาดการณ์ ว่า โดยหลักอาจจะต้องปฏิรูปโครงสร้างรายได้ของลูกจ้างเพื่อที่จะทำให้ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสมทบได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเป็นการล็อกให้ลูกจ้างเสมือนมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท และเมื่อไปคำนวนที่ 1.5 % ทำให้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมได้น้อย
“ต้องเพิ่มเพดานการส่งเงินสมทบ ดังนั้นทำอย่างไรถึงจะทำให้ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสมทบได้เพิ่มและจ่ายไหวก็ต้องทำให้ลูกจ้างมีรายได้สูงขึ้นโดยการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อที่กองทุนประกันสังคมก็จะสามารถรองรับได้ในอนาต”ศาสตราภิชาน แล กล่าว
ศาสตราภิชาน แลกล่าวว่า ส่วนเพดานส่งเงินสมทบจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์นั้น ต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริง เพราะทุกวันนี้เงินเดือน 15,000 บาท ใกล้เคียงกับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ในความเป็นจริงลูกจ้างไม่ได้รับเงินเดือนกับค้าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้น ต้องปรับให้ตรงกับความเป็นจริงตามรายได้เฉลี่ย
“ส่วนการขยายระยะเวลาเกษียณอายุออกมาจากเดิม 60 ปี เป็น 65 ปี บางครั้งอาจจะทำให้ลูกจ้างไม่ได้พักผ่อน เพราะลูกจ้างทำงานหนัก ร่างกายอาจจะไปไม่ไหว และยังไม่ได้รับประโยชน์จากสิทธิประกันสังคม เป็นการเสียประโยชน์ ลูกจ้างจะไม่ยอม”ศาสตราภิชาน แล กล่าว
ศาสตราภิชาน แลกล่าวว่า สำหรับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันนั้น ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพ แต่ปัญหาคือ การพัฒนาทักษะแรงงานไม่ขยับ ต้องไปเพิ่มเรื่องการฝึกอบรม เพื่อยกระดับทักษะด้านเทคโนโลยีเพื่อได้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุนหรือชดเชยเพื่อให้ผู้ประกอบการส่งเสริมการฝึกอบรมของลูกจ้าง
ศาสตราภิชาน แลมองปรากฎการณ์บริษัทฮอนด้า ย้ายโรงงานจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปปราจีนบุรีว่า ยังโชคดีที่ยังไม่ย้ายไปประเทศเวียดนาม เพราะค่าจ้างแรงงานชั้นระดับไร้ฝีมือเวียดนามถูกกว่าไทยกว่าเกือบครึ่ง
“ประเด็นสำคัญ คือ เราต้องหนีคู่แข่งแบบนี้ด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น เพราะฉะนั้นต้องไปพัฒนาคนในเรื่องเทคโนโลยีเพื่อให้คนทำงานได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิมอย่างเร่งด่วน ต้องเป็นวาระแห่งชาติ”ศาสตราภิชาน แล กล่าว