นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชำแหละ "อีวีจีน" รุกตลาด แรงงานไทยเสี่ยงตกงาน 5 หมื่นคน

13 ก.ค. 2567 | 00:00 น.

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันทีดีอาร์ไอ ชำแหละทุน “อีวีจีน" รุกตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ แรงงานไทย เสี่ยงตกงาน 5 หมื่นคน ชี้ มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง พาพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ จากรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่า เรื่องยานยนต์ค่อนข้างชัดเจนว่า แนวโน้มไปตามกระแสของรถอีวี ซึ่งจะมีดีกรีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  

อย่างไรก็ดีญี่ปุ่น เกาหลี หรือยุโรปค่อย ๆ กลับไปสู่เครื่องยนต์ไฮบริด แรงงานในเทียร์สอง เทียร์สามที่ผลิตชิ้นส่วนให้และมีคนทำงานอยู่หลายหมื่นคนจึงไม่กระทบมากนัก 

ถ้ามองในแง่ความพร้อม “ไทยยังไม่พร้อม” เพราะเทคโนโลยีของเราเหมือน “เด็กที่อยู่ในครรภ์” ยังไม่คลอด โดยเฉพาะแบตเตอรี ที่ยังต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ ต้นทุนสูง การแข่งขันสูง  

“กรณีนี้มีผลต่อรถยนต์สันดาปทั้งหลายที่เราใช้อยู่ ซึ่งเราอยู่กับมันมานาน 30 กว่าปี เราสร้างบุคลากรที่เกี่ยวกับชิ้นส่วนยานยนต์ แม้แต่เครื่องยนต์เราก็ทำได้ แต่เครื่องยนต์ที่มีเทคโนโลยีสูง แต่ละยี่ห้อมีเจ้าของ ไม่ได้ให้เทคโนโลยีกับเรา”

จีนมีฐานวิจัยของเขาเอง BYD มีฐานวิจัยของ HUAWEI ไปไกลมากและพร้อมที่จะทำการค้าได้จำนวนมหาศาลมีกำลังผลิตเป็นล้านคัน

“พอเรามีนโยบายผ่อนผัน มาตรการลดภาษีรถอีวี เลยมีผลให้ล้นตลาด ผลิตออกมามาก ตลาดก็ slowdown”

การค่อยๆ ขยับมาหาเรา เป็นเรื่องทาง geo-politic มากกว่า เราก็พยามหวังพึ่งเขา หรือทำให้ย้ายมาเพื่อที่จะมาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเรา 

“แต่ผมคิดว่าอย่าไปหวังเลย เหมือนเราอยู่กับญี่ปุ่น อยู่กับเกาหลีมานาน เทคโนโลยีในการผลิต แม้แต่เครื่องยนต์เอง ก็ไม่ได้ให้อะไรเรามาก ให้เรามาในฐานะผู้ใช้เท่านั้นเอง ซ่อมเป็น เปลี่ยนอะไหล่ได้ แค่นั้น ไม่ได้เป็นตัวเทคโนโลยีจริง ๆ”

การปรับตัวของแรงงานจึงได้ในระดับที่เป็นการรับจ้างผลิต (OEM) แค่นั้นเอง เข้าไม่ถึงหัวใจของมัน คือ การออกแบบ (ODM) ทำให้ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของเราเอง

รถยนต์อีวีที่เข้ามา ถ้าเอามาขายก็ได้แค่ประกอบหรือซ่อมบำรุงเหมือนกับรถยนต์สันดาปทั่วไป แรงงานปรับตัวได้ เพราะไม่ต้องฝึกทักษะอะไรมาก เพราะชิ้นส่วนเหลือไม่กี่พันชิ้น จากเดิมเป็นหมื่นชิ้น แรงงานที่อยู่ในสายการผลิต คนเก่าจึงปรับตัวได้ไม่ยาก 

“แต่ส่วนที่กระทบมากที่สุด คือ แรงงานหลายหมื่นคนที่อยู่ในเทียร์สองและเทียร์สามจะถูกกระทบไม่ต่ำกว่า 50,000 คน เสี่ยงที่จะตกงาน เพราะชิ้นส่วนอะไหล่หายเป็น 10 เท่า อีกส่วนหนึ่งที่จะถูกกระทบคือโรงงานประกอบ”

การไม่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติเป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทักษะแรงงานไทยมาถึงจุดนี้ เพราะสิ่งที่เราได้มา เขาก็เอาไปจ่ายค่าแรงงานขั้นสูง  ใช้คนของประเทศตัวเองทั้งหมด เราจึงไม่ได้เรียนรู้อะไร”

ไม่เฉพาะแค่นั้น รายได้ที่บริษัทขายรถยนต์ในไทยที่จะกลับมา เหลืออยู่ในประเทศเพียง 5 % ไม่ถึง 10 % ได้ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการที่บริษัทต่างชาติใช้ไทยเป็นฐานการผลิต

“การที่เราไม่ได้ปรับตัว ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีมายาวนาน เรา enjoy ที่จะขายชิ้นส่วน งานซ่อมบำรุงฝีมือดีต่าง ๆ ก็ทำได้ในยุคที่การแข่งขันไม่สูงนัก ถ้าเปรียบเทียบกับธุรกิจอย่างอื่นก็ยัง happy ปีนี้จะได้โบนัส 5 เดือน 6 เดือน”

นี่คือผลพวงของภาพใหญ่ประเทศไทย ไม่ได้มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เราเร่งในเรื่องของรถยนต์อีวีเข้ามาเร็ว ในที่สุดสิ่งที่เราได้รับการถ่ายทอดก็เหมือนเดิม แค่แรงงานระดับกลางและระดับล่างเท่านั้น 

ยกตัวอย่างเช่นในระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ตอนนี้ตั้งอีอีซีมาแล้วจะครบเทอม จะเข้าเทอมที่สองน้อยมากที่จะมีบริษัทเข้ามาลงทุนและพร้อมจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ 

บริษัทลงทุนจากต่างประเทศจะเลือกประเทศอื่นที่มีทุนอยู่แล้ว เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย การที่จะเข้ามาใหม่โดยไม่มีฐานเดิมจะเลือกไปที่อื่นมากกว่า เพราะไปเร็วกว่าเรา

“เขาเลือกที่จะไปอยู่มาเลเซียมากกว่า แทนที่จะมาอยู่บ้านเรา ซึ่งเคยมาแล้วใน cycle แรกของอุตสาหกรรม เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา และ cycle ใหม่นี้ มาเลเซียดึงของที่ดี ๆ เช่น เทคโนโลยี เพราะเขามีฐานเทคโนโลยีสูงกว่าเรา” 

เทคโนโลยีเป็นตัวเดียวที่จะทำให้เพิ่มผลผลิต (Productivity) ของแรงงานได้ การจะสร้างมูลค่าเพิ่มในสาขาที่ใหญ่ ๆ ของไทย โดยเฉพาะที่มีเทคโนโลยีสูงในภาคธุรกิจ Real sector คือ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถดันมูลค่าเพิ่มได้ถึง 7-8 % หรือถึง 10 % ได้ ถ้าเราเป็นเจ้าของเทคโนโลยี จะทำให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง 

“แต่ปัญหาคือ คนที่เกี่ยวข้องกับ Real sector ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีจำนวนไม่มาก การขยับตัว การปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ยังไปได้ช้า เพราะเป็นประเทศเล็ก ฐานวิจัยไม่เข้มแข็ง”