EV จีนทุบ รถสันดาป-ชิ้นส่วน เต็นท์มือ 2 ระสํ่า จี้รัฐทำงานเชิงรุก

31 มี.ค. 2567 | 00:55 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2567 | 05:09 น.

จีนบุกไทยเต็มสูบ ตบเท้าเข้ามาปักฐานลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย มีรัฐบาลไทยให้การส่งเสริมและสนับสนุน หวังกระตุ้นการลงทุนโดยเฉพาะการเปิดประตูส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV

EV จีนทุบ รถสันดาป-ชิ้นส่วน เต็นท์มือ 2 ระสํ่า จี้รัฐทำงานเชิงรุก

ทั้งนี้รถ EV จีนมีทั้งการนำเข้ารถสำเร็จรูปและยึดไทยเป็นฐานผลิต จนเป็นกระแสนิยมทางเลือกใหม่มาตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องปัจจุบัน และอีกไม่เกิน 2-3 ปี ไทยจะมีฐานผลิตรถ EVจากจีนเปิดไลน์ผลิตได้เป็นลำดับถัดไปอย่างน่าจับตา

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายโกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคาลโซนิค จำกัด และอุปนายกฝ่ายบริหารสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย หนึ่งในกูรูวงการชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อฉายภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ และมุมมองในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการจากทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยในยุคที่อุตสาหกรรมเคยบูมสุดขีด จนมาสู่ยุคที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่

โกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคาลโซนิค จำกัด และอุปนายกฝ่ายบริหารสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย

  • EV จีน สะเทือนรถสันดาป-ชิ้นส่วน

นายโกวิทย์ กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ปี 2567 ต้องจับตาให้ดี เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบมีความปั่นป่วนมาก มีต้นเหตุจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ในแง่ปัจจัยภายใน เศรษฐกิจภาพใหญ่เริ่มกระทบตั้งแต่ตั้งรัฐบาลล่าช้า และทำให้งบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีความล่าช้า กระทบการลงทุนภาครัฐไม่เป็นไปตามแผน

อีกทั้งมีปัญหาหนี้เสียจากการบริโภครถยนต์และที่อยู่อาศัย ที่จะเป็นปัญหาโยงถึงยอดการซื้อรถยนต์ใหม่ในปี 2567 จะแย่ลง ถ้าไล่ดูจะเห็นว่าปี 2566 จะมีรถ EV จากจีนเข้ามาประมาณ 70,000 คันที่ขายได้ ทดแทนตลาดรถสันดาป พอปลายปี 2566 มีเรื่องหนี้เสียเกิดขึ้นไฟแนนซ์เริ่มเข้มงวดในการปล่อยกู้ ฉะนั้นในปี 2567 คาดจะทำให้ภาพรวมยอดขายรถหายไป 25-30%

“ในอดีตลูกค้า 100 ราย แบงก์ปล่อยกู้ให้ 70 ราย ตอนนี้จะเหลือเพียง 50 ราย ที่น่าติดตามคือรถสันดาปมือสองราคาดิ่งลงมาก เต้นท์รถมือสองระสํ่า ยิ่งทำให้วงจรรถใหม่ที่จะออกมาขายมีปัญหา ตรงนี้ตอบโจทย์ชัดถึงความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในปีนี้แน่นอน”

EV จีนทุบ รถสันดาป-ชิ้นส่วน เต็นท์มือ 2 ระสํ่า จี้รัฐทำงานเชิงรุก

ขณะที่ปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้น คือสินค้าจากจีนทะลักเข้ามาไทยจำนวนมากและมีความหลากหลายชนิด โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดพลาสติก กระจก เหล็ก อีกทั้งรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปจากจีนที่คนแห่ให้ความสนใจตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

“ภาครัฐบาลจะต้องมองเป็นภาพใหญ่ทั้งหมด เฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มยานยนต์สันดาปก็กระทบไปหลายส่วน บางรายต้องลดกำลังการผลิตลงเพราะแข่งขันกับรถไฟฟ้าหรือรถอีวีจีนไม่ไหว ยอมรับว่าชิ้นส่วนยานยนต์ยอดผู้ผลิตไทยลดลงและกำลังอยู่ในโหมดการปรับตัวขนานใหญ่”

ประการต่อมา ยังต้องติดตามเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา หากแย่ลงก็หมายความว่าการซื้อสินค้าของอเมริกาจากทั่วโลกจะลดลงตามไปด้วย และจะกระทบถึงไทยด้วย ตรงนี้ต้องรอดูสถานการณ์อีก 2 เดือนจะเห็นภาพชัด ฉะนั้นตลอดปี 2567 อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจะเกิดการผันผวนมาก

  • กระทุ้งรัฐทำงานเชิงรุก

เมื่อถามว่าผู้ประกอบการจะต้องทำอย่างไรถึงจะรักษาฐานการผลิตไว้ได้ นายโกวิทย์ กล่าวว่า เราต้องกลับไปทบทวนและเลือกยึดหลักการเดิมคือ 1.ถอดโมเดลที่ปรับตัวและใช้ในช่วงวิกฤตโควิด บริหารความเสี่ยงทุกด้าน 2.หันไปนำเข้าวัตถุดิบผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากจีนมากขึ้นในระยะสั้นเป็นการชั่วคราวเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศในระยะยาว 3.หาทางเปิดตลาดใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถสันดาปมากขึ้น

4.รัฐบาลจะต้องมองภาพรวมให้เห็นว่าไทยได้รับผลกระทบจากสินค้าอะไรบ้างที่จีนส่งเข้ามาขายและควรจะรับมืออย่างไรให้รวดเร็ว และมองมาตรการจัดการในระดับประเทศต่อประเทศ 5.รัฐบาลต้องคิดรับมือด้วยมาตรการตอบโต้รูปแบบต่าง ๆ 6.รัฐบาลต้องลงมาช่วยภาคเอกชนหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้น และหารือกับภาคเอกชนให้มากขึ้นเพื่อรับมือกับจีน และหาแนวทางช่วย ไม่ใช่รอให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำเสนอว่าต้องการให้รัฐช่วยอะไรบ้าง

  • กระแสความนิยมรถไฟฟ้ามาแรง

นายโกวิทย์ ยอมรับว่า เวลานี้กระแสนิยมรถยนต์ไฟฟ้ารุนแรงเพราะราคาถูก  ค่าไฟฟ้าถูกกว่าค่าน้ำมันยิ่งทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ใช้รถยนต์คันแรกตรงนี้ต้องบอกว่ามันเกิดความนิยมรุนแรงเกินกว่าปกติ ทั้งหลายทั้งมวลคิดว่ารัฐบาลใส่มาตรการช่วยเหลือมาตรการกระตุ้นรถอีวีจากจีนมากเกินไป ซึ่งนอกจากไทยเปิดช่องให้ภาษีนำเข้ารถอีวีเป็นศูนย์แล้ว  ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนอาจให้การสนับสนุนรถอีวีส่งออกอีกด้วย  ถ้าใช่ก็หมายความว่ารถอีวีจากจีนได้รับการสนับสนุนหลายเด้งในเวลานี้  ในขณะที่รถสันดาปก็ต้องปรับตัวไปซักพัก ในแง่ผู้ผลิตชิ้นส่วนก็ต้องรุกหนักในการหาตลาดส่งออก

“ถ้ามีการสนับสนุนรถอีวีแบบนี้ก็ต้องยอมรับสภาพไป  ก่อนเกิดวิกฤตโควิดเราขายรถยนต์ในประเทศได้ประมาณ 1 ล้านคันต่อปี ส่งออกก็ประมาณ 1 ล้านคันต่อปี  พอปี 2566 ตลาดในประเทศขายได้ 775,000 คันและในจำนวนนี้ก็เป็นรถอีวี75,000 คัน และเป็นรถยนต์สันดาป700,000 คัน รถอีวีเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งไป ยอดขายรถยนต์สันดาปในประเทศหายไปตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดไปทั่วโลก ถึงวันนี้ก็ยังไม่กลับมาสู่สภาวะปกติ

  • ค่ายรถสันดาปญี่ปุ่นในไทยยังไปได้

วันนี้ถึงแม้กระแสรถยนต์อีวีจะมาแรงไปทั่วโลก แต่ก็ยังมีกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนายังต้องการใช้รถยนต์สันดาปอยู่ เช่นโซนอัฟริกา  ดังนั้นบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะยึดหลักคล้ายกันคือ จะใช้โรงงานผลิตในไทยซึ่งมีฐานอยู่แล้วจำนวนมากเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปผลิตเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา  ตรงนี้ในแง่รัฐบาลจะต้องจับมือกับภาคเอกชนช่วยกันหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพราะบางประเทศจำเป็นต้องมีรัฐบาลช่วยนำร่อง ถึงจะเข้าไปเปิดตลาดได้ง่ายขึ้น  ในขณะที่บางฐานการผลิตในยุโรป อ เมริกาก็จะปรับเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อีวีไป

“สาเหตุทำไมชิ้นส่วนรถอีวีไม่ผลิตในไทย  ตรงนี้ต้องเข้าใจก่อนว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงให้หันมาใช้รถยนต์อีวีจุดเริ่มต้นมันเป็นกระแสที่รุนแรงที่จีน และยุโรปแต่ยังไม่ใช่เอเชีย เพราะที่จีนประสบปัญหาเรื่องมลพิษเยอะมาก ขณะที่ยุโรปและอเมริกา มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิตรถอีวี และมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมมากกว่า”

  • ย้ำไทยยังเป็นฐานผลิตสำคัญ

เมื่อถามว่าภาพรวมประเทศไทยยังเหมาะที่จะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ต่อไปหรือไม่ นายโกวิทย์ ย้ำว่า ไทยยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ เพียงแต่รัฐบาลยังต้องช่วยสนับสนุน เพราะที่ ผ่านมากลุ่มทุนญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนก่อนแล้วจำนวนมาก เมื่อวันนี้มีการแข่งขันสูง รัฐบาลก็ต้องดูแลทุนญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดมากขึ้นด้วย  โดยมองว่าขาอีกข้างรัฐบาลต้องรักษาไว้คือกลุ่มทุนเดิมที่เข้ามาอยู่ก่อนจำนวนมาก ซึ่งทุนจากญี่ปุ่นจะเป็นกลุ่มทุนหลักที่ยึดไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญมาอย่างต่อเนื่องมายาวนาน วันนี้กลุ่มทุนจีนที่เข้ามาก็เป็นคู่แข่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ส่วนที่มองกันว่าอุตสาหกรรมหลายอย่างถูกเวียดนามตามทันและพัฒนาแซงหน้าไปแล้วนั้น  โดยส่วนตัวมองว่ายานยนต์น่าจะเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่มองเห็นชัดเจนว่ายากมากที่เวียดนามจะปาดหน้าเราในระยะ 5 ปีจากนี้ไป เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูง และมีซัพพลายเชนจำนวนมาก  และประเทศไทยก็สร้างอุตสาหกรรมนี้มานาน 60-70 ปี  สั่งสมประสบการณ์มายาวนานและได้รับการยอมรับจนกลายเป็นฐานการผลิตที่น่าสนใจและถูกจับตามอง  

จึงต้องตอกย้ำว่ารัฐบาลไทยต้องรักษาฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไว้ให้ดีโดยเฉพาะกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนอยู่ก่อนแล้วจำนวนมาก  บางรายย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นเข้ามาปักหลักในประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับฐานผลิตไทยมานานหลายปีต่อเนื่อง