เริ่มแล้ว “กทพ.” ลุยศึกษาสร้าง “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” 5 หมื่นล้าน

15 ก.ค. 2567 | 10:24 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2567 | 10:32 น.

“กทพ.” เปิดรับความเห็น สร้าง “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ลุยจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯศึกษาความเหมาะสม 3 ปี เล็งตอกเสาเข็มภายในปี 72 พร้อมเปิดให้บริการปลายปี 76

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยในการเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ว่า สำหรับงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ครอบคลุมการดำเนินงาน ดังนี้

 

1. เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และการเงิน 2.เพื่อสำรวจและออกแบบเบื้องต้น และออกแบบกรอบรายละเอียด 3.เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เริ่มแล้ว “กทพ.” ลุยศึกษาสร้าง “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” 5 หมื่นล้าน

4. เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ 5. เพื่อจัดทำการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) และ 6.เพื่อจัดทำกรอบสาระสำคัญเอกสารข้อเสนอเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนและร่างสัญญา

 

 ทั้งนี้เมื่อดำเนินการศึกษาฯ แล้วเสร็จและนำไปสู่การพัฒนาโครงการ ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางสู่เกาะสมุย รวมไปถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางไปยังเกาะสมุย และส่งเสริมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

 

 นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กทพ. ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัดบริษัท เอพซิลอน จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด ดำเนินการศึกษาฯ

 

ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566-15 มีนาคม 2569 มีระยะเวลาดำเนินการศึกษา 36 เดือน (1,080 วัน) และคาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2572 คาดว่าเปิดให้บริการปลายปี 2576

 

นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมฯครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจ ประมาณ 300 คน

 

 นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ กทพ. บูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ,โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อประเทศและประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้การบูรณาการการพัฒนานวัตกรรม การบริหารจัดการแบบ Single Command การเชื่อมโยงข้อมูล และการแก้ไขปัญหาการจราจรโครงข่ายทางถนนดังกล่าวเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยมี กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย

 

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมา กทพ. และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม การกำหนดแนวสายทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ การเปรียบเทียบข้อดีและข้อด้อยของแต่ละแนวสายทางเลือก ควบคู่ไปกับการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่

 

ขณะเดียวกันกทพ.ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ,รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายอำเภอเกาะสมุย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการ

 

นอกจากนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อจำกัดด้านกายภาพด้านสิ่งแวดล้อม และข้อกฎหมายของพื้นที่เพื่อกำหนดแนวสายทางเลือก โดยได้แนวสายทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ 7 แนวสายทาง ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราช

เริ่มแล้ว “กทพ.” ลุยศึกษาสร้าง “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” 5 หมื่นล้าน

ต่อมาได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) ระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2566 ใน 3 พื้นที่ และจัดการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 ใน 11 พื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวลต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมที่สุด เพื่อนำไปศึกษา สำรวจ และออกแบบในรายละเอียดต่อไป

 

จากการพิจารณาเปรียบเทียบข้อจำกัดด้านกายภาพและข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมบริเวณจุดเริ่มต้นโครงการ ในพื้นที่อำเภอดอนสักจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

รวมถึงจุดสิ้นสุดโครงการบนเกาะสมุยแล้ว โดยการให้คะแนนตามปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรมและการจราจร ด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจากภาคส่วนต่าง ๆ แล้ว

ทั้งนี้ทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย วงเงิน 50,000 ล้านบาท พบว่า ผลคะแนนการคัดเลือกแนวสายทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด คือ

เริ่มแล้ว “กทพ.” ลุยศึกษาสร้าง “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” 5 หมื่นล้าน

แนวเส้นทางที่ 6 โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม. 4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียนอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าเชื่อมเกาะสมุยบริเวณช่วงท้ายของหาดท้องกรูด กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ในพื้นที่ต าบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีระยะทางรวม 25.04 กิโลเมตร

 

นอกจากนี้ กทพ. ได้คำนึงถึงประโยชน์ในการเชื่อมโยงทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุยกับทั้งพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อทางพิเศษได้สะดวกรวมถึงส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ทางพิเศษ ให้ครอบคลุม จึงได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะทำถนนเข้าเชื่อมทางพิเศษ (Access Road) โดยมีจุดเชื่อมต่อบริเวณ กม. 14+500 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสักจังหวัดสุราษฎร์ธานี

เริ่มแล้ว “กทพ.” ลุยศึกษาสร้าง “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” 5 หมื่นล้าน

 และเชื่อมต่อบริเวณ กม.35+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลควนทอง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีระยะทาง 11.80 กิโลเมตร ทั้งนี้ ถนนเข้าเชื่อมทางพิเศษ (Access Road) กับแนวเส้นทางที่ 6 ซึ่งเป็นแนว สายทางเลือกของทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุยที่มีความเหมาะสมที่สุด จะมีระยะทางรวมประมาณ 37.32 กิโลเมตร 

 

มีจุดขึ้น-ลง 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณ กม.35+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลควนทอง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และบริเวณ กม. 14+500 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนในจังหวัสุราษฎร์ธานี และ จังหวัด นครศรีธรรมราช รวมถึงผู้ใช้ทาง สามารถใช้ทางพิเศษได้สะดวกมากขึ้น

 

สำหรับรูปแบบเบื้องต้นของโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จะเป็นสะพานทอดยาวในทะเล โดยถนนมีขนาด 4 ช่องจราจร และเชื่อมต่อกับถนนเข้าเชื่อมทางพิเศษ (Access Road) ซึ่งเป็นถนนระดับดิน โดยจะนำไปออกแบบกรอบรายละเอียดเบื้องต้น และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดำเนินงานการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระยะต่อไป