"หวยเกษียณ" หรือ โครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ ดำเนินการโดยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่า จะเริ่มจำหน่ายงวดแรกได้ภายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 ซึ่งขั้นตอนจากนี้ กระทรวงการคลังได้มอบหมาย กอช. ไปแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กอช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินโครงการต่อไป
ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนโครงการ "หวยเกษียณ" ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ในการประชุมครม. ครั้งล่าสุด หน่วยงานต่าง ๆ ได้เสนอความคิดเห็นประกอบการพิจารณา โดยเฉพาะ สำนักงบประมาณ และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีข้อเสนอในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และต้องไม่กระทบกับฐานะการคลังของรัฐด้วย
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการหวยเกษียณ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและเพิ่มแรงจูงใจให้กลุ่มแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบการออมที่เพียงพอและต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อให้เกิดความมั่งคั่งทางการเงินในวัยเกษียณ เพิ่มทางเลือกในการออมเงินและเพิ่มความมั่งคงทางการคลังในการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม
ดังนั้น เพื่อให้ภาครัฐสามารถลดภาระในการจัดสรรงบประมาณ ด้านผู้สูงอายุเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super - Aged Society) จึงเห็นสมควรที่ครม. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อรองรับการเกษียณผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ
พร้อมทั้งมอบหมายให้กองทุนการออมแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการดำเนินโครงการต่อไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเงินรางวัลที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีทุกปี ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณนั้น เห็นควรให้กระทรวงการคลังพิจารณาถึงความคุ้มค่า ต้นทุน ความจำเป็นเร่งด่วน ความเหมาะสมกับสภาวการณ์ และประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการ สนับสนุนเงินรางวัลจากรัฐบาลนั้น เห็นควรให้กระทรวงการคลังคำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงิน และพิจารณาแนวทางในการบริหารเงินสะสมที่สมาชิกซื้อสลากเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม สอดคล้องสภาวการณ์ของตลาด โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและความผันผวนของมูลค่าเงินลงทุนที่อาจจะเกิดขึ้น
รวมทั้งความเป็นไปได้ในการนำผลตอบแทนดังกล่าว หรือรายได้อื่นใดมาสมทบกับเงินรางวัลที่ภาครัฐ จะต้องสนับสนุน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการดำเนินโครงการและลดภาระงบประมาณในระยะยาวของภาครัฐ
ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงความเห็นว่า โครงการ “หวยเกษียณ” จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการออมให้กับสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติในปัจจุบัน และเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้กลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือก (1) (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบการออมภาคสมัครใจมากขึ้น
ทั้งนี้ สศช. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลัง กองทุนการออมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการเงินรายได้ให้ชัดเจน จัดทำประมาณการกระแสเงินสดรับ - จ่าย และกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย รวมทั้งควรมีการนำเงินจากการจำหน่ายสลากสะสมทรัพย์ฯ ไปลงทุน เพื่อให้กองทุนสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินรางวัลได้เองในอนาคต
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันพิจารณาออกแบบระบบคุ้มครองทางสังคมของประเทศให้มีความครอบคลุม ประชาชนทุกกลุ่ม โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการสร้างหลักประกันในการดำรงชีพให้แก่ประชาชนและการสร้าง ความยั่งยืนทางการคลังของประเทศในระยะยาว
อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดมติที่ประชุมครม. ก็ได้ขอให้กระทรวงการคลัง และกองทุนการออมแห่งชาติ ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้รับความเห็นของทุกหน่วยงานที่เสนอความเห็นเข้ามาไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และเงินรางวัลที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำทุกปีนั้น ให้กระทรวงการคลังพิจารณาถึงความคุ้มค่า ต้นทุน ความจำเป็นเร่งด่วน ความเหมาะสมกับสภาวการณ์ และประโยชน์สูงสุดของทางราชการและที่ประชาชนจะได้รับ
โดยให้คำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงิน และพิจารณาแนวทางในการบริหารเงินสะสมที่สมาชิกซื้อสลาก เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม รวมทั้งความเป็นไปได้ในการนำผลตอบแทนดังกล่าว หรือรายได้อื่นใดมาสมทบกับเงินรางวัลที่ภาครัฐจะต้องสนับสนุน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการดำเนินโครงการและลดภาระงบประมาณในระยะยาวของภาครัฐ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
นอกจากนี้ให้กองทุนการออมแห่งชาติพิจารณาดำเนินการจัดทำประมาณการความเสี่ยงของภาระทางการคลังที่จะเพิ่มขึ้นในกรณีต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางรองรับไว้ล่วงหน้าด้วย เช่น กรณีที่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติได้ตามเป้าหมาย