รัฐบาล ปั้น “มาตรฐานครูมวยไทย” มีวุฒิบัตรฝีมือแรงงาน พร้อมโกอินเตอร์

21 ก.ค. 2567 | 01:21 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2567 | 01:28 น.

กระทรวงแรงงาน เร่งผลักดันสร้างมาตรฐาน “มวยไทย” ซอฟท์พาวเวอร์แสนล้าน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำ “มาตรฐานครูมวยไทย” ผู้ฝึกสอน มีวุฒิบัตรพัฒนาฝีมือแรงงานรับรอง พร้อมโกอินเตอร์ โกยตลาดแสนล้าน

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งรัดการสร้าง "มาตรฐานครูมวยไทย" ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทย เพื่อรองรับนโยบาย Soft Power มวยไทยระดับโลกของรัฐบาล และช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ 

ล่าสุดได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สร้างมาตรฐานของครูมวยไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และเมื่อต้นปี 2567 ได้ประกาศมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทยไปแล้ว

สำหรับมาตรฐานนี้กำหนดให้ผู้ฝึกสอนมวยไทย มีความรู้ความสามารถในการวางแผนการสอน ขั้นตอนการสอน อุปกรณ์ การแข่งขันและสุขภาพ กฎหมายและกติกามวยไทย วิทยาศาสตร์การกีฬา การวัดและประเมินผล และจรรยาบรรณผู้ฝึกสอนมวยไทย แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 

  • ระดับ 1 : มีความรู้ความสามารถด้านมวยไทยเบื้องต้น 
  • ระดับ 2 : มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการมวยไทยในรูปแบบต่าง ๆ 

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเป็นครูมวยไทยระดับ 1 ต้องเข้ารับการทดสอบความรู้ทางวิชาการ 20% และความสามารถ ได้แก่ การใช้หมัด เท้า เข่า ศอก และการไหว้ครู 80% ปัจจุบันมีศูนย์ทดสอบผู้ฝึกสอนมวยไทยที่ได้รับอนุญาตแล้ว 18 แห่ง เช่น โรงเรียนมวยไทย ทีซี กรุงเทพฯ มวยไทยเบิกฤกษ์ยิม ลำปาง กำปั้นมวยไทยยิม ขอนแก่น ค่ายมวย ช.ชนะชัย พัทลุง เป็นต้น

รวมทั้งยังมีศูนย์ทดสอบของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน อีก 77 แห่งทั่วประเทศ

ปัจจุบันมีค่ายมวยไทย เปิดสอนมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ 4,000 แห่งทั่วยุโรป 1,700 แห่งในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นอีก 50 ประเทศ โดยในสหรัฐฯ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับมวยไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.25 พันล้านดอลลาร์ 

ส่วนในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาประเทศไทยได้พัฒนาต่อยอดมวยไทยจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและสามารถผลักดันกีฬามวยไทยให้บรรจุอยู่ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน ปี 2028 ที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ได้สำเร็จ

นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า นอกจากการสร้างมาตรฐานของครูฝึกแล้ว รมว.แรงงาน ยังเล็งเห็นว่าการจัดทดสอบผู้ฝึกสอนมวยไทยยังช่วยสร้างเงินในระบบเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ทั้งศูนย์ทดสอบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ต้องการจะพัฒนาให้เป็น Profit Center ในอนาคต และศูนย์ทดสอบของเอกชนที่ได้รับอนุญาต 

โดยกำหนดอัตราค่าทดสอบในระดับ 1 จำนวน 1,600 บาท ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะเชิญชวนครูฝึกมวยไทยและค่ายมวยทั่วโลกเข้ามารับการทดสอบเพื่อรับวุฒิบัตรรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มากที่สุด