เที่ยวบินไทย-จีน ทะลัก “บวท.” ปักหมุดปี 69 ทะลวงเส้นทางใหม่

24 ก.ค. 2567 | 00:00 น.

“บวท.” ผุดเส้นทางบินใหม่คู่ขนาน รับนักท่องเที่ยวจีน ภายในปี 69 หลังภาครัฐเปิดนโยบายวีซ่าฟรี เผย 4 เส้นทางบินหลัก ดันเป้าเที่ยวบิน พุ่ง 2 แสนเที่ยวบินต่อปี

KEY

POINTS

  •  “บวท.” ผุดเส้นทางบินใหม่คู่ขนาน  รับนักท่องเที่ยวจีน ภายในปี 69
  • หลังภาครัฐเปิดนโยบายวีซ่าฟรี
  •  เผย 4 เส้นทางบินหลัก ดันเป้าเที่ยวบิน พุ่ง 2 แสนเที่ยวบินต่อปี 

 ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนให้ความสนใจเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ภายหลังภาครัฐมีนโยบายวีซ่าฟรีที่กระตุ้นด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 นายพิเชฐ  คุณาธรรมรักษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ที่ผ่านมาบริษัทวิทยุการบิน จำกัด (บวท.) ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับจีนและลาว ในการสร้างเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน (Parallel Route) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาคอขวด ซึ่งเดิมจากการตรวจสอบพบว่า เส้นทางการบินเข้า-ออกระหว่างประเทศไทยกับจีน มีปัญหาคอขวดเกิดขึ้นบริเวณประเทศลาวที่จะเข้ามายังประเทศไทย

 

 “บวท.จึงเข้าหารือกับทางจีนและลาว เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือถึงแนวการการแก้ไขปัญหา ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ที่จะไปยังสนามบินหลัก คือ เชียงใหม่ และเชียงราย รวมทั้งเส้นทางบินแยกย่อยไปยังสนามบินต่าง ๆ ในภาคเหนือ รวมถึงการเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศ เพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น เฉิงตู เทียนฟู คุนหมิง กุ้ยหยาง ฉงชิง ซีอาน”
 

ขณะเดียวกันหน่วยงานการบินของจีนได้นำเสนอหลักการสร้างเส้นทางบินคู่ขนาน เส้นทางบิน LPB – ELASU (จีน-ลาว) โดยมีข้อเสนอแนวทางการสร้างเส้นทางบินใหม่ และเส้นทางบินแบบ Conditional Route ภายในเขตการบินของจีน รวม 2 เส้นทางบิน

 

 นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า  บวท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบในหลักการสร้างเส้นทางบินคู่ขนาน และได้ร่วมกันจัดทำแผนดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569  เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศในทุกทิศทาง

 

 นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีเส้นทางการบินหลักระหว่างไทย-จีน ทั้ง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทางมาเก๊า-ฮ่องกง 2.เส้นทางไหหลำ-จีนภาคตะวันออก 3.เส้นทางสปป.ลาว-เวียดนาม-จีน 4.เส้นทางยูนนาน-จีนภาคตะวันตก ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีปริมาณการจราจรทางอากาศประมาณ 60% ของเที่ยวบินทั้งหมดระหว่างไทย-จีน โดยตั้งเป้ามีปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้น 100,000 เที่ยวบิน รวมเป็น 200,000 เที่ยวบินต่อปี

 

 รายงานข่าวจากบวท.ระบุว่า ปัจจุบันพบว่าเที่ยวบินไทย - จีน มีสัดส่วนสูงสุด อยู่ที่ 20% ของปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 (8 เดือน) ปริมาณเที่ยวบิน ไทย - จีน  รวม 55,433 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 213% คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินไทย - จีน รวม 86,150 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นทั้งปี 126%
 

 ในปัจจุบันสนามบินในประเทศไทยที่มีเที่ยวบินจากจีนมาทำการบิน ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย และกระบี่ โดยมีทั้งเที่ยวบินขนส่งสินค้าและเที่ยวบินรับ-ส่งผู้โดยสาร ยกเว้นที่ดอนเมือง และสมุย มีตารางการบินล่วงหน้าสำหรับเที่ยวบินรับ-ส่งผู้โดยสารเท่านั้น

เที่ยวบินไทย-จีน ทะลัก “บวท.” ปักหมุดปี 69 ทะลวงเส้นทางใหม่
 นอกจากนี้หลายสายการบินได้กลับมาให้บริการในเส้นทางบิน ไทย - จีน อีกทั้งมีการขอเพิ่มเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ เช่น เฉิงตู ซึ่งประเทศไทยเตรียมขยายตลาดทางการบินรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
 
อย่างไรก็ตามสนามบินในประเทศไทยที่มีเที่ยวบินไป-กลับ เฉิงตู ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุย ซึ่งในช่วง 8 เดือน ที่ผ่านมามีเที่ยวบินไป–กลับ เฉิงตู รวม 5,896 เที่ยวบิน และคาดการณ์ตลอดทั้งปี 2567 จะมีเที่ยวบิน ไป-กลับ เฉิงตู รวม 8,850 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 265%