นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาแอปเป๋าตัง โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถาม โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ปีนี้จะได้เงินหรือไม่โดยรระบุว่า การทำโครงการ IT ขนาดใหญ่ มีองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึงมากมาย ซึ่งขอสรุปสั้นๆดังนี้
- เรื่องการออกแบบระบบให้สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์และความต้องการของโครงการ
- ความสามารถและความพร้อมของผู้ที่มีส่วนร่วมในโครงการ
- ความสามารถทางเทคนิคและการออกแบบสถาปัตยกรรม
- การจัดการโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายด้านการใช้ทรัพยากรและเวลา
- การวางแผนการทดสอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง
- รวมทั้งการออกแบบระบบความปลอดภัยที่ป้องกันการแปลกปลอมจากผู้ไม่หวังดีต่างๆ
ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นโครงการ IT ขนาดใหญ่ และมีผู้ที่มีส่วนร่วมจำนวนมาก ทั้งส่วนแอปที่รองรับผู้เข้าใช้ระบบ แอปร้านค้า แอปทางรัฐที่ใช้ลงทะเบียน และระบบ Payment platform ซึ่ง Payment platform นับเป็นหัวใจหลักของดิจิทัลวอลเล็ต เพราะต้องรับภาระในการโอนชำระเงิน ตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆตามที่กำหนดไว้ และต้องทำงานให้ได้ในเวลาที่ยอมรับได้ รวมทั้งออกแบบระบบเชื่อมต่อกับแอปที่รองรับผู้ใช้ระบบ และแอปร้านค้า จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากที่ต้องออกแบบระบบ Payment platform ให้มีความมั่นคง ปลอดภัย ทนทาน และรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมากได้
ขอเริ่มตั้งแต่การการลงทะเบียนของภาคประชาชนที่จะใช้แอปทางรัฐ นอกจากต้องปรับแอปทางรัฐให้เป็นทางโล่งรองรับธุรกรรมจำนวนมาก ที่พร้อมรองรับคนที่จะแห่แหนเข้ามาลงทะเบียนแล้ว ยังต้องทำการพิสูจน์ตัวตนผ่านระบบ fvs ของกระทรวงมหาดไทย จึงต้องคำนึงถึงวิธีการออกแบบที่ไร้คอขวด ยิ่งต้องพึ่งพาระบบภายนอกด้วยแล้ว ต้องให้ขั้นตอนการตรวจสอบกับระบบภายนอกไม่ให้เกิดอุปสรรคกับขั้นตอนการลงทะเบียน จึงต้องทำให้เส้นทางการลงทะเบียนจบธุรกรรมอย่างรวดเร็ว เพราะหากยืดเยื้อ ทรัพยากรต่างๆจะถูกยึดครองโดยไม่ถูกปล่อยออก การตรวจสอบสามารถใช้เวลาทำเพิ่มเติมภายหลังได้ ซึ่งการออกแบบที่ดีจะต้องทำให้ทรัพยากรที่ถูกยึดครองปล่อยออกโดยเร็วที่สุด มิฉะนั้นจะเกิดสถานการณ์ที่เป็นคอขวดได้
ส่วนระบบ Payment platform ซึ่งต้องการให้มีการเชื่อมต่อเป็นแบบ open loop ถึงแม้ว่าในทางทฤษฎี จะเป็นเรื่องที่ดี ที่เปิดกว้างให้แอปที่เป็นที่นิยมและมีผู้ใช้จำนวนมากอยู่แล้ว มีส่วนร่วมในการให้บริการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสะดวกในการใช้งาน และลดภาระของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของระบบส่วนกลางได้
แต่การทำเป็น open loop จะเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น เพราะจะมีระบบภายนอกมาเกี่ยวข้องมากขึ้น จึงต้องออกแบบการเชื่อมต่อให้มีความกระชับ รัดกุม และมีการพิสูจน์ตัวตนของระบบที่มีการเชื่อมต่อด้วยและมาตรการเพื่อความปลอดภัยเพิ่มเติม เมื่อทุกฝ่ายพัฒนาระบบให้มีความพร้อมแล้ว ต้องนัดมาทดสอบระบบร่วมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบต่างๆที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานร่วมกันได้
ซึ่งการทดสอบไม่ใช่แค่ทดสอบเรื่องความพร้อมและความถูกต้องของการทำงานเท่านั้น ยังต้องทดสอบเรื่องความปลอดภัย เรื่องประสิทธิภาพ และเรื่องเสถียรภาพของระบบร่วมกันอีกด้วย นอกจากเรื่องการเชื่อมต่อกันแล้ว Payment platform ยังต้องตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆที่จำเป็นตามที่กำหนดไว้ เช่น การตรวจสอบเงินคงเหลือ การตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายในอำเภอเดียวกัน การตรวจสอบว่าเป็นการซื้อขายซึ่งหน้า การตรวจสอบว่าร้านค้านั้นมีคุณสมบัติในการเบิกเงินสด และเงื่อนไขของเงินส่วนที่สามารถเบิกเป็นเงินสดได้ Payment platform จึงมีภาระอันหนักอึ้งที่จะต้องออกแบบให้มีความถูกต้อง คงทน มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงสุด และในกรณีที่เกิด timeout Payment platform อาจจะตัดเงินไปแล้ว แต่ระบบส่วนหน้าไม่รับทราบ ไม่ได้มีการจ่ายสินค้า จะทำการ reconcile อย่างไร
ที่เล่ามาเป็นเพียงการสรุปประเด็นคร่าวๆ เพื่อให้เห็นภาพว่าระบบที่เกี่ยวข้องต้องทำงานกันอย่างไร ถึงเวลานี้หาก technical specifications ยังไม่สามารถ finalize ได้ โอกาสที่จะทำให้สำเร็จเรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายผู้ทีเกี่ยวข้องอย่างสูง