รถไฟมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เปิดบริการ 28 ก.ค.นี้ ลอดอุโมงค์ยาว 42 กม.

25 ก.ค. 2567 | 10:43 น.
อัพเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2567 | 11:52 น.

"การขนส่งทางราง" สแกนพื้นที่เตรียมเปิดเส้นทางให้บริการ "รถไฟมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ" ลอดอุโมงค์ยาว 42 กม. ภายในเดือนก.ค.นี้

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ในส่วนของสัญญา 1 มาบกะเบา-คลองขนานจิตร

และสัญญา 3 งานอุโมงค์ เพื่อตรวจเช็คความพร้อมทั้งด้านงานก่อสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย งานบริการ ก่อนจะมีการเปิดเดินรถทางคู่ ระยะทาง 42.9 กิโลเมตร ประกอบด้วย

รถไฟมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เปิดบริการ 28 ก.ค.นี้ ลอดอุโมงค์ยาว 42 กม.

ช่วงมาบกะเบา-มวกเหล็กใหม่ ระยะทาง 13.20 กิโลเมตร และช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร ระยะทาง 29.70 กิโลเมตร ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นี้

ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมผู้รับจ้างก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ

รถไฟมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เปิดบริการ 28 ก.ค.นี้ ลอดอุโมงค์ยาว 42 กม.

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ขร. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแนวเส้นทางก่อสร้างแบ่งเป็น ช่วงมาบกะเบา - มวกเหล็ก ระยะทาง 13.20 กิโลเมตร ผ่านอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศ คือ อุโมงค์ผาเสด็จ (อุโมงค์ที่ 1) ตั้งอยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบากับสถานีหินลับ เป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว มีความกว้าง 7.50 เมตร สูง 7.00 ม. ระยะทาง 5.41 กม.

เป็นอุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในประเทศไทยและอุโมงค์หินลับ (อุโมงค์ที่ 2) ตั้งอยู่ที่สถานีหินลับกับสถานีมวกเหล็ก เป็นอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ กว้าง 11.0 เมตร สูง 7.30 เมตร ระยะทาง 265 เมตร

ภายในอุโมงค์ผาเสด็จ มีระบบความปลอดภัยที่ครบครัน ทั้งระบบระบายอากาศภายในอุโมงค์ ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ ระบบดับเพลิง ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (cctv) ระบบจ่ายไฟฟ้ากำลังสำรอง

ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบตรวจจับผู้บุกรุกเข้ามาในอุโมงค์ ระบบตรวจจับก๊าซออกซิเจน (ไม่น้อยกว่า 18%) ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (ไม่เกิน 70 ppm) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ (ไม่เกิน 0.2 ppm)

หากตรวจพบค่าใดค่าหนึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ระบบระบายอากาศจะทำงานโดยอัตโนมัติ มีระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน ระบบ SCADA และระบบตรวจจับความร้อนโดยใช้ fiber optic อีกด้วย

รถไฟมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เปิดบริการ 28 ก.ค.นี้ ลอดอุโมงค์ยาว 42 กม.

นอกจากนี้ ภายในอุโมงค์ผาเสด็จมีทางเดินอพยพฉุกเฉินด้านข้างทางรถไฟ และมีทางเชื่อมหนีภัยระหว่างสองอุโมงค์ (cross passage) ทุกระยะประมาณ 500 เมตร รวม 11 แห่ง

 และมีห้องอุปกรณ์ (equipment room) 5 แห่ง รวมทั้งมีห้องควบคุมอยู่ด้านบนฝั่งเหนือของอุโมงค์ผาเสด็จ เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมสั่งการตรวจจับสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ภายในอุโมงค์ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน NFPA 130

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุในการอพยพผู้โดยสารกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในอุโมงค์ผาเสด็จ

ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นี้ จะเปิดให้บริการเดินรถไฟแบบทางคู่สายอีสาน รวมระยะทาง 42.90 กม. เริ่มจากช่วงสถานีมาบกะเบา-สถานีมวกเหล็ก ลอดอุโมงค์ผาเสด็จและอุโมงค์หินลับ

แล้ววิ่งเบี่ยงขวาเข้าทางเดี่ยวเดิมก่อนถึงสถานีมวกเหล็กใหม่ เนื่องจากทางลงทางรถไฟยกระดับของสถานีมวกเหล็กใหม่ ยังอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องค่าปรองดองก่อนดำเนินการก่อสร้าง

จึงต้องใช้ทางเดี่ยวเดิมไปพลางก่อน จากนั้นจึงกลับมาเริ่มเดินรถทางคู่อีกครั้งตั้งแต่ประแจหมายเลข 3 (ประแจ 102A) ด้านเหนือของสถานีบันไดม้า โดยขบวนรถเที่ยวขึ้นจะผ่านประแจ 102 B (ล๊อคประแจในท่าทางเลี้ยว)

รถไฟมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เปิดบริการ 28 ก.ค.นี้ ลอดอุโมงค์ยาว 42 กม.

ใช้ทางคู่จนถึงสถานีคลองขนานจิตร โดยสถานีบันไดม้าจะใช้ทางล่องวิ่งร่วมกันเพียงทางเดียว อย่างไรก็ตาม ทางรถไฟเส้นเดิมที่ผ่านสถานีผาเสด็จและสถานีหินลับ ยังคงมีไว้รองรับการขนส่งสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งมีเดินรถวันละ 8-10 ขบวน รวมถึงขบวนรถไฟท่องเที่ยวที่จัดเฉพาะกิจเท่านั้น

อย่างไรก็ตามการเปิดให้บริการเดินรถไฟทางคู่นี้จะช่วยให้ประชาชนเดินทางสะดวกโดยขึ้นรถได้ที่สถานีมาบกะเบาและสถานีมวกเหล็ก และช่วยลดเวลาการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางให้ประชาชน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถ โดยใช้ระบบ E-token ที่มีความปลอดภัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสอดคล้องกับมาตรฐานสากล