อุตสาหกรรมที่นอนสหรัฐฯ เผชิญวิกฤต ไทยเร่งปรับตัวหลังโดนภาษีทุ่มตลาด

28 ก.ค. 2567 | 07:13 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2567 | 07:19 น.

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผย สถานการณ์วิกฤตของอุตสาหกรรมที่นอนในสหรัฐฯ หลักมีการนำเข้าสินค้าราคาถูก ผู้ส่งออกไทยเร่งปรับตัว หลังโดนมาตรการภาษีทุ่มตลาด

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตที่นอนในสหรัฐฯ ประสบปัญหาความสามารถในการแข่งขันอย่างหนัก ทำให้อุตสาหกรรมและสัดส่วนตลาดหดตัวลงอย่างมาก ผู้ประกอบการบางรายถึงขั้นต้องปิดตัวหรือต้องประกาศล้มละลาย 

โดยปัจจัยหลักมาจากการไหลทะลักของสินค้าที่นอนราคาถูกจากผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนที่สามารถผลิตสินค้าได้ถูกมากเมื่อเทียบกับผู้ผลิตในสหรัฐฯ

อีกทั้ง ภาวะการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์จากปัจจัยด้านระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาดสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสินค้าที่นอนในตลาดสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมาด้วย จากข้อมูลสมาคมสินค้าเครื่องนอนระหว่างประเทศ (International Sleep Products Association หรือ ISPA) รายงานว่า ในปี 2566 ตลาดค้าส่งที่นอนสหรัฐฯ (Wholesale Value of Mattress) มีมูลค่าทั้งสิ้น 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ แม้ว่าในปี 2564 สหรัฐฯ จะพิจารณาดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าด้วยการพิจารณาเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping and Countervailing Duties หรือ AD/CVD) ระหว่างร้อยละ 2.22 – 763.28 จากประเทศคู่แข่งในตลาด 8 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เซอเบีย ตุรเคียร์ เวียดนาม และไทย

โดยได้กำหนดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจากผู้ประกอบการไทย 2 ราย ในอัตราร้อยละ 37.48 และร้อยละ 763.28 ส่วนผู้ประกอบการส่งออกไทยรายอื่นถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราร้อยละ 37.48 ซึ่งส่งผลกระทบทำให้สินค้าที่นอนไทยขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดยอดส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะพิจารณาดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดดังกล่าว แต่ก็ยังคงพบสินค้าที่นอนนำเข้าจากจีนราคาถูกจำนวนมากในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางช่องทางการค้าออนไลน์ เช่น Amazon ที่วางจำหน่ายสินค้าที่นอนจากบริษัท Factory Direct Wholesale ความหนา 8 นิ้ว ขนาดควีนไซส์ ผลิตจากประเทศจีน ได้ในราคาต่ำเพียง $159.99 เท่านั้น

ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดและจำเป็นต้องปรับลดพนักงานลง เช่น บริษัท Malouf Companies ซึ่งปรับลดพนักงานในกิจการลงไปแล้วกว่าหนึ่งในสามของทั้งหมด หรือบางรายอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นล้มละลาย เช่น บริษัท Serta Simmons Bedding LLC. ผู้ประกอบการผลิตที่นอนรายใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งจะยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์สินไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายนเมื่อปีที่ผ่านมา

โดยผลกระทบต่ออุตสาหกรรมดังกล่าวได้นำไปสู่การพิจารณาขยายการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ สำหรับกลุ่มสินค้าที่นอน ทั้งการเปิดการไต่สวนสินค้าที่นอนส่งออกจากเกาหลีใต้ที่หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่าเป็นสินค้าหลบเลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจากจีนที่ส่งผ่านไปยังประเทศเกาหลีใต้ 

รวมถึงการพิจารณาเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าที่นอนส่งออกเพิ่มเติมในอัตราระหว่างร้อยละ 10.74 – 744.81 อีกจาก 12 ประเทศ ได้แก่ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย เมียนมาร์ อินเดีย อิตาลี โคโซโว เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ สโลวาเกีย สเปน และไต้หวัน ซึ่งกระบวนการพิจารณาในขั้นสุดท้ายเพิ่งจะเสร็จสิ้นเมื่อไม่นานมานี้

จากการพิจารณาดำเนินมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ในปี 2564 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าที่นอนไปยังตลาดสหรัฐฯ ทำให้มีต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มที่นอนของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งปรับตัวลดลงจากมูลค่า 109.33 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 เหลือเพียงมูลค่า 35.70 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 หรือคิดเป็นอัตราการหดตัวลง 67.35%

อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าที่นอนไปตลาดสหรัฐฯ ทั้งสิ้นเพียง 24.84 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด อาทิ การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดปัจจุบัน เช่น ที่นอนอัจฉริยะ ที่นอนลดอาการปวดหลัง ที่นอนปรับอุณหภูมิ และที่นอนลดการก่อให้เกิดอาการแพ้ เป็นต้น 

การพิจารณาปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้กระทัดรัดสะดวกในการขนส่งและเก็บคงคลัง เช่น กลุ่มที่นอนบรรจุกล่อง (Bed-In-A-Box) ก็ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยด้วย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันที่ราคาค่าขนส่งสินค้าทางเรือปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การพิจารณาหาตลาดส่งออกสำรองใหม่ๆ ก็ยังจะช่วยรักษามูลค่าการส่งออกสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมด้วย

ทั้งนี้ ในระยะยาวการพิจารณาหาโอกาสในการเจรจาเพื่อถอดถอนประเทศไทยออกจากกลุ่มประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด รวมถึงการสร้างความร่วมมือทางการค้าร่วมกับสหรัฐฯ อย่างเป็นรูปธรรมก็น่าจะช่วยให้ไทยสามารถรักษาสัดส่วนส่งออกสินค้าที่นอนในตลาดสหรัฐฯ ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว