แท็กซี่ไฟฟ้าออกใหม่พุ่ง 3 เท่า ส่วนแท็กซี่ NGV ใกล้สูญพันธุ์

01 ส.ค. 2567 | 06:59 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2567 | 07:10 น.

แท็กซี่ไฟฟ้าออกใหม่พุ่ง 3 เท่า ทำให้แท็กซี่ในระบบ NGV ใกล้สูญพันธุ์ เหลือเพียง 15% จากทั้งตลาด เหตุหาปั๊มเติมยากและราคาแพง ด้านผู้ประกอบการแท็กซี่ ยัน ต้นทุนแท็กซี่ไฟฟ้าถูกกว่าจริง

KEY

POINTS

  • ตลาด Taxi ไฟฟ้า (BEV) เติบโตขึ้นทุกขณะ โดยปี 2567 นี้ ส่วนแบ่งน่าจะสามารถพุ่งไปอยู่ที่ 49% ของยอดจดทะเบียน Taxi ใหม่ทั้งตลาดที่คาดว่าจะมี 3,300 คันได้
  • Taxi NGV คาดส่วนแบ่งลดเหลือ 15% จากปัญหาต้นทุนที่สูงกว่าและการหาปั๊มเติมยาก ขณะที่ Taxi LPG แม้ราคาแก๊สเพิ่มเช่นกัน แต่ปริมาณปั๊มที่ยังมาก ทำให้ยังเป็นทางเลือกแก่กลุ่มที่ยังไม่พร้อมหรือกังวลเรื่องเทคโนโลยีใหม่
  • วิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย และประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยืนยันอีกเสียง ต้นทุนแท็กซี่ไฟฟ้า ถูกกว่าสนดาปจริง และรถติดแก๊สกำลังเผชิญสถานการณ์หาปั๊มเติมยาก

ใครที่เดินทางสัญจรด้วยแท็กซี่ในกรุงเทพมหานคร ในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นปกตินะครับที่เราจะเห็นว่า มีแท็กซี่จำนวนไม่น้อยที่ใช้ระบบการเติมก๊าซ NGV แต่ปัจจุบัน ลองสังเกตุดูมั้ยครับว่า แท็กซี่ระบบไฟฟ้า เริ่มเข้ามามีบทบาทเพิ่มสูงขึ้น ทำให้รถติดแก๊ส ได้รับความนิยมน้อยลง ส่วนหนึ่งนั่นก็เพราะว่า ต้นทุนที่สูงขึ้นของเชื้อเพลิง และสถานีบริการที่หาเติมยากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องออกรถใหม่เป็นยานยนต์ไฟฟ้า 

แม้ช่วงที่ผ่านมาปริมาณ Taxi สะสมในกรุงเทพมหานครจะทยอยลดลง หลังการเพิ่มขึ้นของโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ทำให้ผู้คนเดินทางสะดวกมากขึ้น แต่เรากลับพบว่า ปริมาณ Taxi ไฟฟ้า (BEV) ที่จดทะเบียนใหม่กับกรมการขนส่งทางบกมีปริมาณต่อเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยปริมาณแท็กซี่ทั้งตลาดที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ณ สินเดือนมถุนายนที่ผ่านมา มีจำนวน 75,184 คัน แม้ในจำนวนนี้จะมีแท็กซี่ไฟฟ้าเพียง 1,211 คัน แต่ก็ถือว่ามีปริมาณสะสมเพิ่มสูงขึ้นมากถึงเกือบ 3 เท่า หากเทียบกับ ณ​ สิ้นปี 2566 และหากเทียบกับปี 2565 ปัจจุบัน เรามีปริมาณแท็กซี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัวแล้ว

แท็กซี่ไฟฟ้าออกใหม่พุ่ง 3 เท่า ส่วนแท็กซี่ NGV ใกล้สูญพันธุ์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำการวิจัยเรื่องนี้ และมองเห็นว่า Taxi ป้ายแดงเปลี่ยนเป็น BEV มากขึ้นนั้น เกิดจากปัญหาต้นทุนและการหาปั๊มเติมแก๊สยาก และฉุดให้ส่วนแบ่งการตลาดแท็กซี่รูปแบบเดิม ๆ หายไป

โดยเชื่อว่า หากผู้ขับขี่ หรือผู้ประกอบการ มีความต้องการจะซื้อ Taxi ใหม่ เพื่อทดแทนคันเก่าที่หมดอายุในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนมากก็คงมองไปที่ Taxi ไฟฟ้าแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนอาจมีส่วนแบ่งสูงถึง 49% ของตลาด Taxi ป้ายแดงที่คาดว่าจะมีทั้งหมดราว 3,300 คันในปีนี้ และทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของแท็กซี่รูปแบบอื่น ๆ หายไป เช่น น้ำมัน แก๊ส LPG และแก๊สธรรมชาติ NGV รวมกันลดเหลือเพียง 51% จากเดิมอยู่ที่ 86% ในปี 2566

แท็กซี่ไฟฟ้าออกใหม่พุ่ง 3 เท่า ส่วนแท็กซี่ NGV ใกล้สูญพันธุ์

สำหรับสาเหตุหลักที่ Taxi ไฟฟ้าเติบโต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า มาจากต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าถูกกว่ารถยนต์สันดาปที่ใช้พลังงานรูปแบบเดิม เพราะ Taxi ไฟฟ้า สามารถชาร์จไฟจากที่พักอาศัยได้ในราคาระดับเดียวกับค่าไฟบ้าน และหากยิ่งเป็นเจ้าของรถเอง ต้นทุนต่อวันจะลดลงเหลือไม่ถึง 500 บาท ถูกกว่าแท็กซี่ LPG และ NGV มากกว่าเท่าตัว

แท็กซี่ไฟฟ้าออกใหม่พุ่ง 3 เท่า ส่วนแท็กซี่ NGV ใกล้สูญพันธุ์

ในขณะเดียวกัน หากมาดูทางฝั่งผู้ประกอบการแท็กซี่ให้เช่าทุกประเภท แท็กซี่สันดาป LPG และ NGV ต้นทุนจะอยู่ที่ราว 150,000 กว่าบาทต่อปี ในขณะที่แท็กซี่ไฟฟ้า ต้นทุนทั้งหมด อยู่ที่ราว 125,000 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าล่อตาล่อใจผู้ประกอบการให้ปรับเปลี่ยนไปใช้รถ EV มากขึ้น

แท็กซี่ไฟฟ้าออกใหม่พุ่ง 3 เท่า ส่วนแท็กซี่ NGV ใกล้สูญพันธุ์

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องต้นทุนแล้ว ความไม่สะดวกในการหาปั๊มเติมแก๊สก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ เพราะมีอัตราการทยอยปิดตัวเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ราคาแก๊สทั้ง NGV และ LPG ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมาของ Taxi ไฟฟ้า แต่ก็มีผลทำให้ Taxi กลุ่มพลังงานอื่นได้รับผลกระทบ

จากตารางเปรียบเทียบปั๊มแก๊สทั้ง LPG และ NGV ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฉายภาพให้เห็นใน 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกคือปัจจัยด้านราคาที่พุ่งสูงขึ้นของทั้งแก๊ส 2 ประเภท และส่วนที่ 2 คือปริมาณสถานีบริการที่ลดลง โดย LPG ในปี 2560 มีจำนวน 285 แห่ง แต่ปัจจุบันเหลือ 214 แห่ง แต่ยังเยอะ หากเทียบกับ NGV ที่เดิมทีในปี 2560 มีไม่ได้เยอะอยู่แล้วราว 119 แห่ง แต่ปัจจุบัน ในกรุงเทพมหานครมีเพียง 57 แห่ง และส่วนมากไม่ได้อยู่ในกรุงเทพมหานครชั้นใน

แท็กซี่ไฟฟ้าออกใหม่พุ่ง 3 เท่า ส่วนแท็กซี่ NGV ใกล้สูญพันธุ์

ตรงข้ามกับสถานการณ์ของ Taxi ไฟฟ้า แม้ราคาชาร์จไฟจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่จำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าก็มีเพิ่มขึ้นมากและจะเพิ่มขึ้นต่อในอนาคต ทำให้ปัญหาเรื่องการหาที่ชาร์จไฟมีแนวโน้มลดลง โดยในปีนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน กรุงเทพมหานครมีสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากกว่า 3 เท่าตัว

แท็กซี่ไฟฟ้าออกใหม่พุ่ง 3 เท่า ส่วนแท็กซี่ NGV ใกล้สูญพันธุ์

ผลการวิจัยในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อนาคตของ Taxi NGV จะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงเรื่อย ๆ โดยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 15% ของทั้งตลาด ลดลงจากปี 2566 ที่มีสัดส่วน 31%

เมื่อสอบถามไปยังผู้ประกอบการแท็กซี่ นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย และประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เล่าให้ฟังว่า เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องจริง เพราะในอู่ของสมาชิกแทบไม่มีรถสันดาปติดตั้งระบบแก๊สจดทะเบียนใหม่เลยในปีนี้ 

ส่วนรถเก่าที่ติดตั้งแก๊สมาแล้ว ก็ใช้วิ่งบริการไปพลางให้ครบกำหนดอายุที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดแล้วก็ปลดประจำการไป บางส่วนที่เป็น NGV ก็เลือกที่จะนำไปแปลงเป็น LPG ซึ่งก็จะมีต้นทุนที่ 2-3 หมื่นบาทต่อคัน ซึ่งส่วนมาก ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่ติดตั้งระบบแก๊สจะชอบวิ่งให้บริการโซนชานเมือง เพราะหาเติมแก๊สได้ง่ายกว่า และมักจะปฎิเสธผู้โดยสาร ด้วยสาเหตุที่ว่า ต้องเติมแก๊สครับ เข้าเมืองไม่ได้ หรือ ขับขี่ไปไกลมากไม่ได้ ไม่เช่นนั้น พวกเขาต้องวิ่งรถด้วยน้ำมัน ก็จะส่งผลต่อต้นทุนการขับขี่

คุณวิฑูรย์ คำนวนต้นทุนของผู้ขับขี่แท็กซี่จากการเก็บของมูลของสมาคมฯ พบว่า ผู้ขับขี่แท็กซี่สันดาปทั่วไปจะหาเงินได้ราว 2 พันบาทต่อวัน แต่ค่าเฉลี่ยของผู้ที่ใช้แท็กซี่ EV จะหาเงินได้มากกว่า 2,000 ถึง 2,500 บาทต่อวัน เพราะได้รับความชอบและความนิยมจากผู้โดยสารมากกว่า

แต่ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น รถแท็กซี่สันดาป จะมีต้นทุนการเช่าราว 900 บาทต่อวัน ค่าเชื้อเพลิงหากเป็น LPG และ NGV จะอยู่ที่ราว 600-700 บาทต่อวัน หักค่าดำรงชีวิตแล้ว ก็อาจจะเหลือเงินเก็บกลับบ้านราววันละ 200-500 บาทก็เก่งแล้ว

ในขณะที่ผู้ขับขี่แท็กซี่ไฟฟ้าส่วนมากจะเป็นลักษณะการเช่าซื้อกับสหกรณ์แท็กซี่ หรือเจ้าของอู่ หารเฉลี่ยค่าผ่อนต่อวัน จะอยู่ที่ราว ๆ 700 บาท แต่ต้นทุนการชาร์จไฟฟ้ามีเพียง 300 บาทต่อวัน ต้นทุนรวมแล้ววันละ 1,000 บาท และที่สำคัญคือ  ค่าบำรุงรักษาถูกกว่าค่อนข้างมาก เพราะไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไม่มีหัวเทียน หรือชิ้นส่วนที่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ ทำให้ต้นทุนส่วนนี้มีเพียง 5 พันบาทต่อปี ในขณะที่รถสันดาปสูงถึง 3 พันบาทต่อเดือน หรือ 36,000 บาทต่อปี

ภาคเอกชนเชื่อว่า ภายในสิ้นปีนี้ น่าจะมีรถแท็กซี่ไฟฟ้าใหม่เข้าสู่ระบได้ราว 5 พันคัน แต่จะมีออกมามากในช่วงสิ้นปี เพราะกำลังพิจารณาเรื่องความนิ่งของราคา หลายฝ่ายโดยเฉพาะภาครัฐ มีความต้องการจะเพิ่มปริมาณแท็กซี่ไฟฟ้าให้ได้ถึง 3 หมื่นคัน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของแท็กซี่ทั้งระบบภายใน 2 ปี

แต่คำถามตัวโต ๆ ที่ผู้ประกอบการฝากถึงรัฐบาลก็คือ แล้วรถสันดาปเดิมที่จะเอา EV มาวิ่งแทนนั้น จะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน? ครั้นจะขายทิ้ง ราคาก็ตกจนต่ำกว่ายอดหนี้คงค้างกับสถาบันการเงิน ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ประกอบการหารือกับกรมการขนส่งทางบกต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ยังไม่สามารถหามาตรการเยียวยาในเรื่องนี้ได้