BTS หวังกทม. - กรุงเทพธนาคม จ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 1.1 หมื่นล้าน

02 ส.ค. 2567 | 05:01 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2567 | 05:49 น.

BTS น้อมรับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ให้กทม. -กรุงเทพธนาคม (KT) ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 11,755 ล้านบาท ส่วนหนึ่งของยอดหนี้รวมถึง 39,402 ล้านบาท หลังต่อสู้กว่า 3 ปี

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS นำโดยนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ พ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ได้ร่วมกันแถลงถึงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

โดยศาลได้มีคำสั่งให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - วงเวียนใหญ่ - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง (เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงพฤษภาคม 2564) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต (เดือนเมษายน 2560 ถึง พฤษภาคม 2564) เป็นจำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท

นายคีรี กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่บีทีเอสได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง จนได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า เราทำงานอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องเหล่านี้ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนรับทราบมาโดยตลอด และ ณ วันนี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความพยายามที่บีทีเอสทำมาตลอดนั้นไม่สูญเปล่าและยังเป็นการยืนยันคำพูดของตนที่ว่า บีทีเอสทำงานบนพื้นฐานความถูกต้อง และได้ปรึกษาทีมกฎหมายอย่างครบถ้วน ถ้าสัญญาไม่พร้อมหรือไม่ถูกต้อง ย่อมไม่มีการลงนามอย่างแน่นอน

และเนื่องจากบีทีเอสเป็นบริษัทมหาชน ดังนั้นจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้โดยสาร ที่ยืนยันเสมอมาว่า จะไม่หยุดเดินรถอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ บีทีเอสได้รับทราบในเบื้องต้นว่า กทม. พร้อมที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บีทีเอสได้เรียกร้องให้กทม. และ KT คำนึงถึงยอดหนี้ในส่วนที่เหลือด้วย

เนื่องจากดอกเบี้ยมีการเพิ่มขึ้นทุกวันเฉลี่ยวันละ 7 ล้านบาท โดยหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มีจำนวนรวม 39,402 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 ส่วนดังนี้

BTS หวังกทม. - กรุงเทพธนาคม  จ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 1.1 หมื่นล้าน

ส่วนที่ 1 ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ให้กทม. และ KT ร่วมกันชำระให้กับบีทีเอสเป็นเงินจำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท

ส่วนที่ 2 ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ให้กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทาง ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 (หนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง ตุลาคม 2565) เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

ส่วนที่ 3 ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มิถุนายน 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท

ส่วนที่ 4 ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี พ.ศ. 2585

หลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการเตรียมตัวชำระหนี้ของกทม. โดยได้เร่งให้มีการส่งตัวแทนมาเจรจาหารือแนวทางภายใน 180 วัน ซึ่งบีทีเอส ยินดีและพร้อมที่จะเจรจากับกทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป

 หากทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางอื่นๆ ที่อยากให้พิจารณาเช่น การปรับปรุงสถานี เพิ่มระบบต่างๆ หรือลดค่าโดยสาร บีทีเอสก็ยินดี และพร้อมที่จะเจรจา หากข้อเสนอเหล่านั้นมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพียงแต่เรียกร้องให้มีการชำระหนี้ให้แล้วเสร็จก่อนจะมีการดำเนินการต่อไป

ที่สำคัญ คำพิพากษาเกี่ยวกับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จะเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีในหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีแนวทางที่จะยื่นฟ้องเพิ่ม แต่หากไม่ได้รับความเคลื่อนไหวภายในระยะเวลาที่กำหนด อาจมีการพิจารณายื่นฟ้องหนี้ส่วนที่เหลืออีกครั้ง

สำหรับโอกาสในการเจรจาต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแลกเปลี่ยนกับภาระหนี้สินที่มีอยู่ นายคีรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังไม่มีการหารือในประเด็นนี้ มีความเป็นไปได้ว่า กทม. กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษารูแนวทางการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางสุขุมวิท และเส้นทางสีลม ที่จะสิ้นสุดสัญญากับบีทีเอส อีก 8 ปีข้างหน้าในปี 2572

ทั้งนี้ หากกทม. มีการเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ก็สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนรายใหม่ที่เข้าร่วมลงทุน จำเป็นต้องยึดตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานปัจจุบัน ที่ระบุไว้ว่าต้องว่าจ้าง BTS เป็นผู้ให้บริการเดินรถตลอดเส้นทางกว่า 60 กิโลเมตร จนกว่าจะครบกำหนดอายุสัญญาในปี 2585

“รู้สึกดีใจ และเป็นชัยชนะให้กับตัวเองที่ต่อสู้อย่างบริสุทธิ์มาโดยไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าลูกหนี้เข้าใจ เพราะสัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีอะไรผิดพลาด ดังนั้นนั้นสิ่งที่เราทำมา หรือสิ่งที่ตนเคยพูด เราทำอะไรตรงไปตรงมา และทำในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา หวังว่ากทม. และ KT จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเอกชนอย่างเรา ที่ไม่เคยหยุดให้บริการเดินรถ และควรให้ฝ่ายกฎหมายเร่งพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แก่บีทีเอสโดยเร็ว” นายคีรี กล่าวทิ้งท้าย