แม้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) จะระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะฟื้นตัว และหนุนให้ GDP เติบโต 2.8% หลังปัจจัยกดดันต่างๆคลี่คลาย ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ การส่งออก รวมถึงได้แรงส่งจากภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว แต่ผู้ประกอบการเองก็มองว่าแรงกระเพื่อมต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ก็ยังส่งผลต่อเนื่องมายังครึ่งปีหลัง
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้อยู่ในช่วงขาลง แรงมาก จากเดิมเคยส่งผลกระทบ อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการระดับ SMEs แต่ปัจจุบันกลับลุกลามมาถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ เริ่มมีภาพการดำเนินธุรกิจไปต่อไม่ไหว ทั้งปิดกิจการและเลิกจ้างออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งหลายหน่วยงานคงเห็นปัญหาและพยายามหารือถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงาน
“แน่นอนประเทศไทยเราพยายามสู้เต็มที่ อยู่นิ่งไม่ได้ แข่งขันทุกทาง จากเดิมที่เคยใช้กลยุทธ์คุณภาพก็เริ่มต้านเรื่องราคาไม่ไหว เพราะผู้บริโภคไม่มั่นใจเงินในกระเป๋าตัวเอง ฉะนั้นจึงละทิ้งเรื่องคุณภาพหันมาสนใจราคามากกว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัว มากในภาวะเศรษฐกิจปีนี้”
สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจของไทยโดยตรงคือ 1. ธุรกิจและอุตสาหกรรมบางกลุ่มของประเทศไทย ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ประเด็นนี้อาจเป็นปัญหาที่ไม่หนักมากนัก เพราะต้องใช้เวลาสำหรับการเปลี่ยนผ่าน เช่น การผลิตรถสันดาบไปเป็นรถ EV ซึ่งรถยนต์สันดาบก็ยังคงขายได้อยู่ ส่วนรถ EV อยู่ในช่วงพัฒนาแต่ประเทศไทยต้องพยายามปรับเปลี่ยนให้เร็ว 2. การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผู้คนทั่วโลกจำเป็นต้องใช้มียอดการส่งออกหดตัว ประเด็นนี้ส่งผลหนักเพราะค่าระวาง หรือค่าขนส่งสินค้า (Freight) สูงขึ้นมาก ราคาเฉลี่ยสูงขึ้นเช่นเดียวกับช่วงเกิดโควิด-19 แต่ต่างกันที่ภาครัฐไม่มีมาตรการมาสนับสนุน ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อในขณะที่ราคาสินค้าแพงขึ้น
“เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังนี้ ยังพอมีโอกาสกลับเข้าสู่สมดุล แต่อาจไม่เร็วมากนัก ต้องใช้เวลาและฟื้นตัวช้าลงแบบไม่ปกติ เพราะ 1.ในแต่ละประเทศจะเริ่มรู้แล้วว่าสินค้าที่ผลิตต่อไปจะต้องส่งใครหรือไปตลาดไหน 2. อัตราดอกเบี้ยของทั้งโลกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงขาลง กำลังซื้อจะค่อยๆ กลับมา ทำให้ต้นทุนทางการผลิตสินค้าสามารถแข่งขันกันได้”
สอดรับกับนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 2567 ยังต้องเฝ้าระวัง แม้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกในการลงทุนภาครัฐ งบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง ภาครัฐ นโยบาย Soft Power ที่ยกระดับรายได้ครัวเรือน บสย.ที่ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เพิ่มของเอสเอ็มอี นโยบายแก้หนี้ เป็นต้น แต่การย้ายฐานการผลิต ปิดกิจการของธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีเป็นสัญญาณ “สึนามิเศรษฐกิจ“ ที่ต้อง “ลีน” (Lean) และ “รุก” เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย หนี้นอกระบบ ที่ต่างคนต่างทำ ขาดการเชื่อมโยงให้ความสำคัญกับกลไกที่จะปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวควบคู่กับการปรับเปลี่ยนกิจการในการสร้างรายได้เพิ่มเพื่อความยั่งยืน
ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าทั้งกำลังซื้อลดลง รายได้ไม่พอรายจ่าย แบกต้นทุนเพิ่ม ดอกเบี้ย ทุบซํ้า พลังงานพุ่งทั้งนํ้ามันและไฟฟ้า ค่าขนส่ง และตามด้วยค่าแรงที่แซงผลิตภาพ ท่ามกลางวิกฤติสงครามที่ลากยาวรัสเซีย-ยูเครน และอีกหลายคู่ หลายขั้วของแต่ละภูมิภาคโลก สงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีนที่ชัดจนเพิ่มมากขึ้นและยุทธศาสตร์การขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนที่มีความได้เปรียบทั้งต้นทุนส่งผลกระทบเอสเอ็มอีของ แต่ละประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี มาตรการที่เป็นประโยชน์และเอื้อต่อผู้ประกอบการในระยะยาวคือ มาตรการลดต้นทุน และค่าครองชีพให้ผู้ประกอบการที่ส่งเงินสมทบและแรงงานในระบบ เพื่อจูงใจให้ผู้ที่อยู่นอกระบบเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น โดยใช้การให้ส่วนลดราคาสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และเพื่อประกอบอาชีพ สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆเป็นรายเดือน รวมถึงมาตรการขึ้นทะเบียนผู้ที่มีรายได้ตํ่ากว่า 400 บาททั่วประเทศ เพื่อการยกระดับผลิตภาพแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน และมาตรการ Soft loan ดอกเบี้ยตํ่า เพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือเอสเอ็มอีในระบบประกันสังคม จูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าระบบเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่นายอัศวิน อิงคะกุล ประธานกรรมการบริหาร มิราเคิล กรุ๊ป กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นมาทุกรายการ ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าจ้างพนักงาน ราคานํ้ามัน ฯลฯ สวนทางกับรายได้ของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว นับตั้งแต่วิกฤตโควิด จนถึงปัจจุบัน ทำให้โรงแรมไม่สามารถปรับราคาห้องพักเพิ่มขึ้นตามต้นทุนได้ ขณะนี้การทำธุรกิจโรงแรมขอแค่มีเม็ดเงินจ่ายดอกเบี้ยกับเงินต้นได้ก็พอใจแล้ว เนื่องจากหากพิจารณาเฉพาะอัตรากำไรสุทธิ (มาร์จิ้น) ในอดีตเคยทำได้ 20-30% แต่ในปีนี้ คาดว่าได้กว่า 10% ก็ดีแล้ว
“เรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาสูงในตอนนี้ โดยเฉพาะดอกเบี้ย ที่ถือเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจ แต่โรงแรมเปรียบเหมือนสินค้าเน่า หากไม่ได้เปิดขายในวันนี้ ก็เก็บไปขายวันต่อไป ไม่ได้ เพราะเราขายห้องพักหรืออาหารในโรงแรมแบบวันต่อวัน แต่ดอกเบี้ยวิ่งตลอดเวลา แม้ไม่มีรายได้ เข้ามา ซึ่งดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงถือเป็นภาระต้นทุน เราเข้าใจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองในภาพรวม เศรษฐกิจในอนาคตจะเริ่มดีขึ้นจึงไม่ได้ลดดอกเบี้ย แต่ภาวะปัจจุบันตอนนี้ที่ทั้งธุรกิจทั้งประชาชนเดือดร้อน ก็อาจต้องประเมินการลดดอกเบี้ย ซึ่งจะต้องลงในอัตราที่เท่ากัน เพื่อให้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน”
แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ถือว่ายังเหนื่อย เพราะมีปัจจัยเสี่ยงรออยู่เบื้องหน้า โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่กลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง ส่งผลกระทบเชื่อมโยงกับสภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับมา ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการเอกชน ก็ต้องพยายามประคองตัวเองเอาตัวให้รอดภายใต้ภาวะต้นทุนสูง สวนทางรายได้ ในธุรกิจ พยายามให้พนักงานที่เกี่ยวข้องลงไปพบลูกค้ารายบุคคลให้มากขึ้น เพื่อสร้างกระแสเงินสด รวมถึงพยายามลดการใช้จ่ายที่ถือเป็นต้นทุนของธุรกิจเท่าที่จะทำได้
ยกตัวอย่างล่าสุดได้ออกแคมเปญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของตัวเอง ผ่านการจำหน่ายคูปองเงินสดที่ใช้ในโรงแรมได้ ทั้งการรับประทานอาหารหรือจองห้องพักในราคาที่เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการขาย อาทิ ราคาขายอยู่ที่ 1 หมื่นบาท ได้มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นบาท ขายที่ 2 หมื่นบาท ได้จริงที่ 3 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นการดูแลลูกค้าและคืนกำไรให้ ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องในธุรกิจ ก็จะได้ในการสร้างกระแสเงินสดเพิ่มเติม