กสิกรไทย เทียบฟอร์ม เศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ ยังไม่แน่นอนทั้งคู่

05 ส.ค. 2567 | 09:19 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 09:28 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เทียบฟอร์ม เศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ ยังไม่แน่นอน โดยสหรัฐฯ​ต้องลุ้นสงครามการค้าที่อาจปะทุขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่วนไทยยังต้องอิงการส่งออกที่ผันผวน หลังดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมต่ำสุดในรอบ 2 ปี

KEY

POINTS

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวช่วงครึ่งหลังของปี คาดเฟดปรับลดดอกเบี้ยในเดือน กันยายน 2567
  • เศรษฐกิจไทย คาดทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังอยู่สูง ธปท. อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ตลอดปี 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผล ​รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ ประจำเดือนก.ค. 67 (Monthly Report) เศรษฐกิจสหรัฐฯและไทย โดยพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวช่วงครึ่งหลังของปี คาดเฟดปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. 67 ส่วนเศรษฐกิจไทย คาดทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังอยู่สูง ธปท. อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ตลอดปี 2567

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตดีเกินนคาดในไตรมาสทที่ 2/2024 แต่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและตลาดแรงงานชะลอตัวลง ดังนั้น จากปัจจัยดังกล่าว จึงคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มวัฎจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ก.ย. โดยอาจมีการปรับลดทั้งหมดสองครั้งในปีนี้

ในส่วนของความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจก่อให้ เกิดความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจโลก โดยหลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถอนตัวในการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงตําแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสนับสนุนรองประธานาธิบดี ‘กมลา แฮร์ริส’ ในการต่อสู้กับโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น ก็ทำให้กระแสของ ‘กมลา แฮร์ริส’ ได้ปิดช่องว่างระหว่างทรัมป์ในการแข่งขัน 

แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าพรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครตจะชนะเสียงข้างมากในสภาคองเกรส แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีนโยบายที่จะกีดกันการค้ากับจีน อย่างไรก็ตาม หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจะมีการปรับขึ้นภาษีนําเข้าที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่เพียงแค่จีนแต่ยังรวมถึงกับประเทศอื่น ๆ ด้วย ทำให้การค้าโลกปั่นป่วนแน่นอน

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น และการส่งออกที่ขยายตัว ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงเชิงลบที่เพิ่มขึ้น จากทั้งภายในและต่างประเทศภาคการผลิตของไทยมีแนวโน้มจะยังคงอ่อนแอ เนื่องจากการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนและความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลง

ขณะเดียวกันผลผลิตทางการเกษตรอาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออํานวย ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ตลอดปี 2024 

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทยลดลงสู่ระดับ 87.2 ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 และเป็นการปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

โดยปัจจัยลบ ได้แก่

  • เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวช้า
  • กําลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแออย่างต่อเนื่อง
  • ปัญหาขาดสภาพคล่องในกลุ่ม SMEs
  • การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และเรือบรรทุกสินค้าอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ 

  • มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น การยกเว้นวีซ่า
  • ความต้องการสินค้าไทยจากภายนอกที่เพิ่มขึ้น
  • แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อการส่งออกไทย