วันนี้ (6 สิงหาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และร่างพระราชบัญญัติกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ช่วงหัวลำโพง – บางแค 4 ฉบับ เพื่อเวนคืนและกำหนดภาระในอสังหาฯ ที่ยังคงค้างอยู่
สำหรับร่างพระราชบัญญัติ ทั้ง 4 ฉบับ ประกอบด้วย
1.ร่าง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง - บางแค ในท้องที่เขตบางกอกใหญ่ เขตภาษีเจริญ และเขตบางแค กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
2.ร่าง พ.ร.บ.กำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง - บางแค ในท้องที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตพระนคร เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
3.ร่าง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงบางชื่อ - ท่าพระ ในท้องที่เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย และเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
4.ร่าง พ.ร.บ.กำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ช่วงบางชื่อ - ท่าพระ ในท้องที่เขตบางพลัดและเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
สาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และร่างพ.ร.บ.กำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินนั้น เป็นการแก้ปัญหาภายหลัง การรถไฟฟ้ามวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีแรก
เป็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง – บางแค ในท้องที่เขตบางกอกใหญ่ เขตภาษีเจริญ และเขตบางแค กรุงเทพมหานคร และช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ในท้องที่เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย และเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยให้ผู้ว่าการ รฟม. เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนภายในระยะเวลา 4 ปี
ทั้งนี้ แม้ รฟม.ได้ส่งมอบที่ดินที่ถูกเขตทางทั้งหมดในโครงการรถไฟฟ้าฯ เพื่อใช้ในการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว แต่มีเจ้าของที่ดินช่วงหัวลำโพง บางแคฯ จำนวน 23 แปลง (จาก 374 แปลง) และช่วงบางซื่อ – ท่าพระฯ จำนวน 24 แปลง (จาก 298 แปลง) ไม่ตกลงซื้อขาย
ดังนั้น รฟม. จึงวางเงินทดแทนให้กับเจ้าของที่ดินดังกล่าวแต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของเจ้าของที่ดิน โดยจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. ก็ต่อเมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และพระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ รฟม. จึงมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้น เพื่อให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของ รฟม. โดยเร็วต่อไป
กรณีที่สอง
กำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ภาระในอสังหาริมทรัพย์มีการแสดงสิทธิในที่ดินให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องยอมรับภาระว่าไม่สามารถใช้สอยอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ตามปกติ แต่ไม่ได้สร้างภาระจนถึงขนาด รฟม. จะต้องดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น เช่น ทางวิ่งรถไฟฟ้า ในอุโมงค์ (ใต้ดิน) ทางวิ่งของรถไฟฟ้าพาดผ่านบริเวณเหนือที่ดิน
โดยที่ผ่านมา รฟม. ยังไม่ได้จดทะเบียนกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์ ในโครงการรถไฟฟ้าฯ ในท้องที่เขตบางกอกใหญ่ เขตภาษีเจริญ และเขตบางแค กรุงเทพมหานคร และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ในท้องที่เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย และเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกำหนดลักษณะภาระนั้นจะตกอยู่ภายใต้ภาระอสังหาริมทรัพย์
แม้ว่าที่ผ่านมา รฟม. ได้วางเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินดังกล่าว แต่เจ้าของที่ดินไม่มาตกลงทำสัญญากำหนดลักษณะภาระ ในอสังหาริมทรัพย์ ช่วงหัวลำโพง - บางแคฯ จำนวน 114 แปลง (จาก 329 แปลง) และช่วง บางซื่อ – ท่าพระฯ จำนวน 37 แปลง (จาก 170 แปลง)
ดังนั้น เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกำหนดลักษณะภาระนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระอสังหาริมทรัพย์ ได้ก็ต่อเมื่อมีการตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน มีผลใช้บังคับ รฟม. จึงมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายดังกล่าวขึ้น เพื่อกำหนดภาระอสังหาริมทรัพย์ให้อยู่ภายใต้ภาระอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการขนส่งมวลชนในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล