“เว็บ-เพจปลอม”ลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต ว่อน แนะวิธีเช็ความน่าเชื่อถือ

07 ส.ค. 2567 | 11:02 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 11:11 น.

อาชญากรไซเบอร์ ไม่หยุดทำงาน “เว็บปลอม เพจปลอม SMS ปลอม” ลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต วอนโลกออนไลน์ เตือนระวัง หลอกลงทะเบียน แนะวิธีตรวจสอบความน่าเชื่อถือของช่องทางลงทะเบียนโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต"

โครงการเติมเงิน 10,000 ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา  โดยขณะนี้มีคนเข้าไปลงทะเบียนผ่าน แอปทางรัฐ ไปแล้วหลายสิบล้านคน

“เว็บ-เพจปลอม”ลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต ว่อน  แนะวิธีเช็ความน่าเชื่อถือ

ด้วยความสนใจโครงการดังกล่าวของประชาชนเป็นจำนวนมาก  เป็นช่องทางให้อาชญากรไซเบอร์   หรือ มิจฉาชีพออนไลน์   ที่ไม่เคยหยุดทำงาน  หาวิธีการใหมล่อลวง ต่อเนื่อง   โดยมีทั้งเว็บปลอม เพจปลอม  SMS ปลอม ลงทะเบียน ดิจิทัลวอลเล็ต   และ แอปทางรัฐ เกิดขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมาก   

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ เครือข่าย  ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเติมเงิน 10,000 ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” พบการกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ในแพลตฟอร์มต่างๆ และดำเนินการปิดกั้นแพลตฟอร์มแล้ว ดังนี้

1.แอปพลิเคชันปลอม หลอกลงทะเบียนทางรัฐ จำนวน 6 แอปพลิเคชัน

2.เฟซบุ๊ก แฟนเพจปลอม “ทางรัฐ-เงินดิจิทัล” จำนวน 90 เพจ

3.ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน จำนวนกว่า 20 ข่าว

4.เว็บไซต์ปลอม “dga-thai.com” จำนวน 1 เว็บไซต์

 

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวม วิธีตรวจสอบความน่าเชื่อถือของช่องทางลงทะเบียนโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต"

สังเกตเครื่องหมายรับรองความถูกต้องของเว็บไซต์

  • เครื่องหมายรับรอง (Blue Tick) ต้องอยู่หลังชื่อเพจ ไม่ใช่อยู่ในโลโก้
  • เมื่อนำเมาส์ไปชี้ ต้องมี Pop-up แสดงสถานะการรับรอง

ตรวจสอบ URL ของเว็บไซต์:

  • เว็บไซต์ทางการคือ digitalwallet.go.th
  • ระวังเว็บไซต์ปลอมที่มีชื่อคล้ายคลึง

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ:

  • ใช้ Google Play Store สำหรับ Android
  • ใช้ App Store สำหรับ iOS
  • ไม่ควรกดลิงก์ดาวน์โหลดจากแหล่งอื่น

ระวังการหลอกลวงผ่านช่องทางอื่น:

  • ไม่ควรเชื่อข้อความใน LINE, Facebook Inbox หรือ SMS
  • ระวังการโทรศัพท์หลอกลวงที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่

อย่ากดลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ:

  • การกดลิงก์อาจนำไปสู่เว็บไซต์หรือแอปปลอมที่ดูเหมือนของจริง
  • อาจถูกติดตั้งแอปดูดเงินหรือขโมยข้อมูลส่วนตัว

ระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนตัว:

  • ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัวกับแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
  • ข้อมูลอาจถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ เช่น เปิดซิมผี หรือขายต่อ

ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้:

  • ติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์และช่องทางทางการเท่านั้น
  • หากมีข้อสงสัย ควรสอบถามจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง

การระมัดระวังและตรวจสอบความถูกต้องของช่องทางลงทะเบียนจะช่วยป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ