เงินดิจิทัล10000 สรุปทุกแบงก์ พร้อมเชื่อมระบบชำระเงิน Open Loop 

14 ส.ค. 2567 | 01:45 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2567 | 01:52 น.

ความคืบหน้าล่าสุด โครงการเติมเงินดิจิทัล10000 บาท ผ่าน Digital Wallet โฆษกรัฐบาล ยอมรับสมาคมธนาคารไทย ชี้ทุกธนาคารพร้อมยินดีให้ความร่วมมือเร่งเชื่อมระบบชำระเงิน Open Loop 

ความคืบหน้าล่าสุด โครงการเติมเงินดิจิทัล10000 บาท ผ่าน Digital Wallet วันนี้ (14 สิงหาคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ความคืบหน้าที่ภาครัฐขอความร่วมมือภาคธนาคารในการเชื่อมระบบการชำระเงินลักษณะ Open Loop ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ขณะนี้สมาคมธนาคารไทย (TBA) เผยพร้อมเร่งเชื่อมระบบชำระเงิน หรือ Open loop โครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้ทันกรอบเวลา

โดยได้ระบุว่า ทุกแบงก์ยินดีให้ความร่วมมือ โดยสมาคมธนาคารไทย ได้มอบหมายให้กับทางสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย (Payment System Office : PSO) ร่วมกับประธานชมรม CIO ประสานงานกับทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA เป็นผู้พัฒนาระบบ เพื่อทำความเข้าใจสถาปัตยกรรมของระบบและการเชื่อมต่อระบบการชำระเงิน

ทั้งนี้ ภาครัฐได้ทยอยส่งแผนพัฒนามาให้กับคณะทำงาน PSO และ CIO เบื้องต้น แต่ยังมีคำถามและต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่ายังเป็นไปตามช่วงเวลาที่ได้กำหนด

ขณะเดียวกัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ยังตรวจสอบพบว่า ตอนนี้มีการเผยแพร่ข่าวปลอมเรื่องการลงทะเบียนแอปฯ ทางรัฐ อาจมีความเสี่ยงทำให้ข้อมูลในบัตรประชาชนรั่วไหลไปสู่แอปฯ ใหม่ที่ชื่อว่า SupperApp

ขณะนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าแอปฯ ทางรัฐ ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) DGA ยืนยันว่าทางรัฐ เป็นแอพลิเคชั่น ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งโปร่งใสตรวจสอบได้ 

ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือ ไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการที่เกี่ยวข้องกับแอปฯ ทางรัฐ จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้ที่เว็บไซต์ www.dga.or.th หรือ โทร. 02-612-6060

นายชัย กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าก้าวข้ามทุกอุปสรรคอย่างถูกต้อง โปร่งใส รวมทั้งรับฟังทุกคำแนะนำตามหลักเหตุและผล เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ กระตุ้นเศรษฐกิจ วางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศและประชาชนไทย