นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีที่กรมฯได้ศึกษาแนวทางในการปรับลดค่าผ่านทาง โครงการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อลดภาระของประชาชนหลังบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ผู้รับสัมปทาน ประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2567 ตามสัญญาสัมปทาน
นายสราวุธ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 ที่ผ่านมากรมฯ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ของแนวทางดังกล่าว เบื้องต้นได้นำตัวเลขที่เกี่ยวข้องมาประเมินในทุกด้าน เช่น กรณีไม่ขึ้นค่าผ่านทาง, กรณีลดค่าผ่านทางลง ตลอดจนการขยายอายุสัญญาออกไปเพื่อชดเชยเอกชน
ทั้งนี้คณะทำงานฯชุดดังกล่าวมีข้อสรุปผลการศึกษาในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2567 โดยมีความเห็นไม่ควรลดค่าผ่านทางแลกกับการขยายสัญญาออกไป เนื่องจากตัวเลขที่ศึกษาพบว่าไม่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันกรมฯได้รายงานต่อกระทรวงคมนาคมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังไม่ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันกรมฯมีแผนจะดำเนินการเจรจาร่วมกับเอกชนเพื่อขอคูปองส่วนลดเพิ่มเติมให้ประชาชนเหมือนในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอัตราค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์จะมีการปรับค่าผ่านทางตามสัญญาภายในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นการปรับในรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น.-21 ธันวาคม 2572 โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทางช่วงดินแดง-ดอนเมือง จากปัจจุบัน 80 บาท ขึ้นเป็น 90 บาท และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน จาก 35 บาท ขึ้นเป็น 40 บาท
นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางการบริหารสัญญาสัมปทานหลังจากนี้จะเดินหน้าตามปกติ ซึ่งสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี 2577 ทำให้ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของกรมทางหลวง ทั้งนี้ในสัญญาไม่ได้ระบุว่าหากใกล้สิ้นสุดสัญญาสัมปทานเอกชนมีสิทธิ์สามารถต่อสัญญาหรือเจราจาร่วมกันได้
นอกจากนี้ตามสัญญาฯ ก่อนหมดสัญญา 5 ปี กรมฯ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการต้องศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการดอนเมืองโทล์ลเวย์ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยคาดว่าจะเริ่มศึกษาได้ภายในปี 2572-2573
สำหรับการพิจารณาแนวทางศึกษานั้น เช่น การซ่อมบำรุงโครงสร้างที่มีอายุการใช้งานหลายปี, อัตราค่าผ่านทางที่เหมาะสมและรายได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด