ชงรัฐบาลใหม่ “ลดเงินสมทบประกันสังคม” 1 ปี รับมือขึ้นค่าแรง 400 บาท

23 ส.ค. 2567 | 05:26 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2567 | 05:33 น.

กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ รองรับผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ทั้ง ลดเงินสมทบประกันสังคม 1 ปี และ ลดภาษีค่าใช้จ่าย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน กำลังเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศไทย รองรับผลกระทบการปรับ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ในช่วงปลายปี 2567 ผ่านการ ลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และมาตรการภาษี ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการได้ในช่วงแรกของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หารือเอกชนญี่ปุ่น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือค่าจ้างขั้นต่ำ ในประเทศไทยเบื้องต้น มีดังนี้ 

  1. ลดเงินสมทบประกันสังคมฝ่ายนายจ้าง 1% เป็นระยะเวลา 12 เดือน 
  2. ลดภาษีค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการ 1.5% โดยทางกระทรวงแรงงานจะหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป
  3. สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป ขึ้นค่าแรงตามวันทำงานจริง และบริษัทขนาดเล็กไม่ถึง200 คน ยังคงมาตรการค่าจ้างของสถานประกอบการเดิมระยะเวลา 12 เดือน

"เมื่อคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว กระทรวงแรงงาน จะเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งหมดเพื่อพิจารณา คาดว่าจะรองรับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ตามนโยยายของรัฐบาลได้" นายพิพัฒน์ ระบุ

สำหรับไทม์ไลน์ของการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศนั้น ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้าง จะพิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัด และคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง จะเพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 

โดยคาดว่าจะสรุปรายละเอียดเสนอให้กับคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดไตรภาคี เพื่อพิจารณาเห็นชอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ และรายงานต่อที่ประชุมครม.รับทราบ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ต่อไป

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ยังได้หารือกับ นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และนายโคโซ โท ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok (JCC) และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อนำเสนอข้อมูลรายงานการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หารือเอกชนญี่ปุ่น เรื่องมาตรการช่วยเหลือ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

 

ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน ยังได้แจ้งถึงแนวทางการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ในประเทศไทยเบื้องต้นให้ทาง JETRO และ JCC รับทราบ หลังจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย ได้สอบถามและมีข้อกังวลเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงในปี 2567 นี้ ซึ่งผู้ประกอบการก็พอใจและเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบส่วนหนึ่งได้

นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) กล่าวว่า ขอบคุณที่กระทรวงแรงงานมีมาตรการรองรับให้กับผู้ประกอบการหลังจากปรับขึ้นค่าจ้าง และมาตรการการขออนุญาตทำงานระยะสั้นในประเทศไทย ซึ่งจากผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ครึ่งปีแรกของปี 2567 ด้านแรงงานนั้น พบว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก 

ส่วนด้านการลงทุน 23% ลงทุนเพิ่ม 45% ลงทุนคงที่ ส่วนประเด็นด้านการบริหารองค์กร อันดับ 1 เป็นเรื่องการเเข่งขันกับบริษัทอื่น และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้น ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น อันดับ 2,3 ตามลำดับ และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ช่วยส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ (การบริโภค) เพื่อก้าวสู่ความสัมพันธ์อันดีครบรอบการก่อตั้ง 70 ปีในประเทศไทย

ด้านนายโคโซ โท ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok (JCC) กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาลไทย และกระทรวงแรงงานที่ให้การสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นให้สามารถดำเนินการในประเทศไทย พร้อมรับฟังปัญหาและความคิดเห็นทุกประเด็นด้านแรงงาน ทาง JCC พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนต่อไปในอนาคต