รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 โดยพบว่าในไตรมาสนี้ มีจำนวน "คนว่างงาน" ทั้งสิ้น 4.29 แสนคน เพิ่มขึ้น 0.19 แสนคน จากในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนคนว่างงานจำนวน 4.10 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.1%
หากพิจารณาตามประสบการณ์การทำงาน พบว่า คนว่างงานในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 นั้น เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 1.85 แสนคน และไม่เคยทำงานมาก่อน 2.44 แสนคน เมื่อพิจารณาข้อมูลคนว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยทำงานในภาคการบริการและการค้า 1.22 แสนคน คิดเป็น 65.9% รองลงมาคือ ภาคการผลิต 0.51 แสนคน หรือ 27.6% และภาคการเกษตร 0.12 แสนคน หรือ 6.5%
ส่วนผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน มีจำนวนทั้งสิ้น 2.44 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นวัยเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี จำนวน 1.87 แสนคน มากกว่าวัยผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไป ที่มี 5.7 หมื่นคน หรือคิดเป็น 76.6% และ 23.4% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้แม้ไม่ตกงาน แต่ก็มีรายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน ที่อาจส่งผลให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน โดยในไตรมาส 2 ปี 2567 มีผู้เสมือนว่างงานจำนวน 1.98 ล้านคน ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณาภาพรวมสถานการณ์ด้านแรงงานในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 พบว่า มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 40.18 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 39.50 ล้านคน ผู้ว่างงาน 0.43 ล้านคน ผู้รอฤดูกาล 0.25 ล้านคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.99 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังเด็ก/ชรา ป่วยหรือพิการจนไม่สามารถทำงานได้ ผู้ที่ทำงานบ้าน (ดูแลบ้านตนเอง) หรือเรียนหนังสือ
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบการมีงานทำในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 กับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าการจ้างงานลดลง 0.18 ล้านคน หรือลดลงจาก 39.68 ล้านคน เป็น 39.50 ล้านคน หรือคิดเป็น 0.5% โดยอัตราการมีงานทำลดลงเป็น 66.8% จาก 67% ในไตรมาสแรกของปี 2567
สำหรับการจ้างงานโดยรวมลดลง 0.5% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือจากผู้มีงานทำ 39.68 ล้านคน เป็น 39.50 ล้านคน เป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 1.5% จาก 28.04 ล้านคน เป็น 28.45 ล้านคน และ การจ้างงานภาคเกษตรกรรม ลดลง 5.1% จาก 11.64 ล้านคน เป็น 11.05 ล้านคน
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของลูกจ้างภาคเอกชน มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยเท่ากับ 46.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา คิดเป็น 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ชี้ให้เห็นว่าการจ้างงานภาคเอกชนมีชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้นว่าไตรมาสที่ผ่านมา