เตือนรัฐบาลใหม่รับมือภาวะเงินฝืด-วิกฤติหนี้สิน-ปิดโรงงาน

19 ส.ค. 2567 | 01:40 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2567 | 01:40 น.

เตือนรัฐบาลใหม่รับมือภาวะเงินฝืด-วิกฤติหนี้สิน-ปิดโรงงาน อนุสรณ์ชี้โอกาสที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเกิน 3% เป็นไปไม่ได้แล้วในปีนี้ ระบุาเร่งใช้จ่ายงบลงทุน งบ 67 ให้เบิกจ่าย 75% ขึ้นไปเป็นไปได้ยาก

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า โอกาสที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเกิน 3% นั้นเป็นไปไม่ได้แล้วในปีนี้ 

การเร่งใช้จ่ายงบลงทุน งบประมาณปี 2567 ให้เบิกจ่ายในระดับ 75% ขึ้นไปเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสำหรับรัฐบาลรักษาการ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็ต้องใช้อีกอย่างน้อย 1-2 เดือน อาจทำให้งบประมาณปี 2568 ล่าช้าออกไปบ้าง

แต่จะดีกว่าสถานการณ์ของงบประมาณปี 2567 หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ที่มีความล่าช้าอย่างมาก คาดว่าปัจจัยการลงทุนภาครัฐในปีหน้าจะดีกว่าปีนี้มาก  
 

ส่วนการลงทุนเอกชนปีนี้จะขึ้นกับสถานการณ์การส่งออกและเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ  

ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่น่าจะเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูง แต่มีความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับภาวะเงินฝืดมากกว่า การทะลักเข้ามาของสินค้าจีนกดอัตราเงินเฟ้อลงมา ความเสี่ยงทางการเมืองจะกดทับความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนต่อไป ไม่มีเงินเฟ้อจากแรงดึงของอุปสงค์ 

ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นจากสงคราม ราคาสินค้าเกษตรและอาหารอาจปรับตัวสูงขึ้นบ้างจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่เป็นปัจจัยทางด้านอุปทานทั้งสิ้น วิกฤติหนี้สิน การปิดโรงงานและการเลิกจ้างในบางอุตสาหกรรมจะยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ แต่ปัญหาอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ 
 

ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา แรงงานไทยจำนวนมากได้เคลื่อนย้ายจากภาคเกษตรกรรมมายังภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคเกษตรกรรมประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมมีอายุเฉลี่ยสูงมาก แรงงานข้ามชาติจึงเป็นทางเลือกหลักการผลิตในภาคเกษตรกรรม ภาคประมง ภาคก่อสร้าง 

นอกจากนี้ ไทยอาจเผชิญภาวะสมองไหล มีแรงงานทักษะสูงความรู้สูง นักวิชาชีพต่างๆ ออกไปทำงานและตั้งถิ่นฐานในประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้น ถือเป็นการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีที่สวนทาง (The Reverse Transfer of Technology) แทนที่ 

ประเทศไทยจะได้แรงงานทักษะสูง ความรู้สูง ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศพัฒนาแล้ว กลับกลายเป็นว่า แรงงานทักษะสูงของไทยอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศพัฒนาแล้วแทน ภาวะสมองไหล (Brain Drain) ของไทย นอกจากเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นผลจากความไม่พอใจต่อสภาพสังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อมไทยในอีกด้วย